ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

“ผมอยากเขียนหนังสือ เพราะไปเห็นงานของเพื่อน วงเดือน ทองเจียวในนิตยสารฟ้าเมืองไทยและสกุลไทย รวมทั้งนักเขียนลูกอีสานอย่างลุงคำพูน บุญทวี และสมคิด สิงสง หรืองานของพี่หงา คาราวาน(สุรชัย จันทิมาธร) นักเขียนอีกท่านที่สร้างความประทับใจจนอยากเป็นครูบ้านนอกคือนิมิตร ภูมิถาวร อ่านทุกเรื่อง อ่านมาก จึงอยากเขียนถ่ายทอดความคิดความรู้สึกเป็นตัวอักษรสู่สายตาของสาธารณะบ้าง”สังคม เภสัชมาลาบอกเล่าถึงแรงจูงใจในการเขียนหนังสือ

วงเดือน ทองเขียว ที่นักเขียนวัยหนุ่มใหญ่เอ่ยถึง เป็นนักเขียนภาคอีสานเหมือนเขา มีผลงานเช่น ลูกช่างแกะสลัก โรงเรียนป่าล้อม ฯลฯ เรื่องสั้นตีพิมพ์ในสกุลไทยที่เขาได้อ่าน น่าจะตีพิมพ์ในปี 2526 เพราะผมเคยเห็นตีพิมพ์ไล่ ๆ กับเรื่องสั้นของผมที่ลงในสกุลไทยปีเดียวกัน

“ต่อมาก็ได้แรงกระตุ้นจากวงเดือน ทองเจียว และ สมคิด สิงสง รวมถึงบ.ก.อาจินต์ ปัญจพรรค์แห่งฟ้าเมืองไทยที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ทำให้ความอยากเขียนพุ่งพรูอยู่ในสายเลือด”

หากโดยพื้นฐานของชีวิตแล้ว เขาบ่มเพาะการอ่านมาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร หลังจากที่เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่บ้านมูลนาค  อำเภอมัญจาคีรี(ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอโคกโพธิ์ชัย) จังหวัดขอนแก่น ดังที่เขารำลึกความหลังระคนเล่นลิ้นว่า...

“พอจบป.4 ผมก็ออกบินไปในดงขมิ้น คลุกคลีตีระฆัง เอ้ย! ตีโมง อยู่ในร่มเงาศาสนา ทั้งในนามบรรพชิต จนสอบได้เปรียญธรรมสามประโยค(มหา)และเป็นเด็กวัดด้วย รวมแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี”

 ครั้งถือเพศบรรพชิต สังคม เภสัชมาลาได้อ่านนิทานธรรมมะและนิยายธรรมะมากมาย จนกระทั่งในเวลาต่อมาได้อ่านนวนิยายต่าง ๆ ในห้องสมุดที่มีอยู่มากมาย...

“ผมติดนิยายในนิตยสารบางกอกงอมแงม ตอนม.ศ.5 อยู่ที่อุบลราชธานี ไปสิงอยู่ในห้องสมุดประชาชนจากเช้าจดเย็น ครั้งลาสิกขา เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไปยืมหนังสือของห้องสมุดวัดปากน้ำมาเป็นตั้ง  ได้อ่าน‘เพชรพระอุมา’ของพนมเทียนจบทุกเล่ม นิยายไทยและต่างประเทศ นิยายโนเบลอ่านหมด หลงใหลคลั่งไคล้เรื่องแนวสร้างสรรค์ เรียกว่า การอ่านคือสายเลือด ยังนึกไม่ออกว่าวันไหนไม่อ่านหนังสือ สะสมหนังสือไว้มากมาย จนสร้างเป็นห้องสมุดส่วนตัว มีหนังสือหลายพันเล่ม”           

หลังจากสอบบรรจุเป็นครูโรงเรียนชั้นประถมที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2523 ในเวลาต่อมา สังคม เภสัชมาลาได้เขียนเรื่องสั้นส่งไปคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” ในนิตยสารฟ้าเมืองไทยของบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์ ปัญจพรรค์(ล่วงลับเมื่อปี 2562) ผู้เขียนเรื่องชุด เหมืองแร่ อันยิ่งยง เมื่อปี 2528 ...

“ผมส่งงานเขียนและจดหมายไปถึงท่านบ.ก.อาจินต์ครั้งใด จะนำมาลงในหน้าจดหมาย ตำหนิติชมและให้กำลังใจเสมอ แต่อย่างว่า สโลแกนที่ว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียน”ยังคงรับผลงานของผมลงตะกร้าอย่างต่อเนื่อง เขียนส่งไปหาย ๆ ทุกครั้งที่ฟ้าเมืองไทยวางแผง ผมจะรีบขับมอเตอร์ไซค์เข้าอำเภอ ไปดูว่ามีเรื่องของตัวเองลงหรือไม่ หัวใจเต้นตึกตัก เมื่อไม่เห็น ไม่มี ไม่ท้อและไม่เคยจะไม่ซื้อหนังสือติดมือมาอ่านที่บ้าน”

กระทั่งเย็นวันหนึ่ง เขาไปดูนิตยสารฟ้าเมืองไทยที่แผงหนังสือเช่นทุกครั้ง เปิดหน้าคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” เห็นเรื่องสั้น “ครูโรเนียว”ในนามปากกา สังคม เภสัชมาลา เขาเพ่งดูด้วยอาการตะลึงงัน พูดไม่ออก เขาเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า...

“ความรู้สึกเหมือนกำลังเจิดปีกขึ้นบนฟ้า  ร่อนลอยอยู่บนนั้น ยกมือขึ้นเหนือหัวสองข้าง โชคดีไม่ตะโกนเสียงหลง ไม่อย่างนั้นแผงหนังสือที่บ.ข.ส. ผีบ้าที่ไหนมาแสดงฤทธิ์เดชตรงนี้”

สังคม เภสัชมาลาบ่นเสียดายที่เขาจำวันเดือนปีและฉบับที่ตีพิมพ์ไม่ได้ แต่จำได้แม่นยำว่าหลังจากได้ค่าเรื่องเป็นเรื่องแรกในชีวิตจำนวน 100 บาท รีบเอาธนาณัติไปขึ้นเงินที่ไปรษณีย์ ก่อนจะไปซื้อลอดช่องไปฝากเมียและลูก เขาสารภาพความในใจว่า...

“ตอนแรกอยากจะเอาธนาณัติไปใส่กรอบติดไว้อย่างเช่นนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง แต่เงินร้อยหนึ่งในสมัยโน้น(ปี 2528) มันมาก พอจะใช้ได้เป็นเดือนทีเดียว”

หลังจากนั้นเขาก็เขียนหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย จนกระทั่งนวนิยายเรื่องแรก “หวดฮ้าง”ได้รับการตีพิมพ์ในคุรุปริทัศน์ รายเดือน เป็นนิตยสารของกรมฝึกหัดครู

“ตอนแรกที่เขียนไม่รู้จะตั้งชื่ออย่างไร จึงไปปรึกษาเพื่อนรุ่นพี่คือ จันทร์แดง ลือคำหาญ บอกว่าผมจะใช้ชื่อ ‘หวดร้างข้าวง เพราะถ้าจะใช้ ‘หวดฮ้าง’ กลัวคนภาคอื่นจะไม่เข้าใจความหมาย แต่พี่ท่านและเพื่อนคนอื่นบอกว่าใช้ ‘หวดฮ้าง’ ดีที่สุด”

 นิตยสารคุรุปริทัสน์ในยุคนั้นได้รับความนิยมมากในแวดวงครู ที่สำคัญ ผู้ที่มารับหน้าที่บรรณาธิการแต่ละคน เป็นทั้งครูและนักเขียน ที่จำได้ก็มี ไพโรจน์ บุญประกอบ อำนาจ เย็นสบาย นวนิยายเรื่องต่อมาของสังคม เภสัชมาลาที่ได้ตีพิมพ์ตามมาติด ๆในคุรุปริทัศน์ก็คือ “โรงเรียนในภู”

หลังจากนั้นเขาก็มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เรื่อยมาร่วมร้อยเรื่อง กระนั้นในช่วงแรกของการเขียน เขามีอุปสรรคต่างจากนักเขียนคนอื่น ดังที่เขาบอกเล่าประสาซื่อว่า...

“เขียนแล้วไม่รู้จะส่งไปเผยแพร่ที่ไหน กลายเป็นความโง่เขลาของนักเขียนบ้านนอกคนหนึ่ง ที่นาน ๆ จะได้พบปะพูดคุยกับนักเขียนหรือกลุ่มศิลปิน คิดว่ามีหน้าที่เขียนก็เขียน เขียน ๆ เก็บ

ไว้อ่าน แล้วอย่างนี้มันจะไปปรากฏตัวต่อสาธารณะได้อย่างไร จนมีคนแนะนำว่าให้ส่งไปถึงบรรณาธิการสำนักพิมพ์นั้น ๆ จึงเห็นงานของตัวเองปรากฏบ้างตามโอกาสและการผ่านเกิด

ปัญหาของนักเขียนสมัยก่อนคือเกิดยาก ผลงานทุกชิ้นต้องได้รับการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ หาใช่เขียนแล้วได้รับการเผยแพร่เลยอย่างเช่นทุกวันนี้ที่ลงในสื่อออนไลน์ ส่งไปแล้วต้องอดทนรออย่างมาก  ส่วนมากไม่แจ้งให้ทราบ มีครูอาจินต์ที่ท่านจะส่งไปรษณียบัตรชี้แนะ ให้กำลังใจเป็นระยะ ท่านเป็นบรรณาธิการโดยสายเลือดจริง ๆ มีความเป็นกันเองกับนักเขียน”

นอกจากอดทนรอผลงานตีพิมพ์แล้ว เขาบอกว่ายังต้องอดทนรอค่าเรื่องว่า จะได้รับธนาณัติเมื่อไหร่ แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ...

“บางเรื่องไม่ได้รับค่าเรื่องก็มี ก็ต้องทำเป็นลืม ตั้งหน้าตั้งตาเขียนต่อไป หนังสือรวมเล่มยิ่งต้องอดทน ไหนจะต้องหอบต้นฉบับหรือส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา ส่งแล้วเงียบ เงียบราวไม่มีตัวตน การจะพิมพ์รวมเล่มเป็นอะไรที่เลือดตาแทบกระเด็น  อดทนเป็นปียังไม่เห็นผลงาน เช่นเดียวกับค่าลิขสิทธิ์ แล้วแต่ทางสำนักพิมพ์จะเมตตา  คิดว่าเขาพิมพ์ให้ก็บุญโขแล้ว ไม่ทราบว่าเขาซื้อขายกันเป็นครั้ง ๆ ละเท่าไหร่ บางสำนักพิมพ์ซื้อขาดตัวไปเลย ยังต้องยอม”

จากปัญหาดังกล่าวที่สังคม เภสัชมาลาประสบมา เขานึกถึงอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ตั้งสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว เพื่อพิมพ์ผลงานของตัวเอง เขามาคิดดูแล้ว จึงสรุปได้ว่า...

“การตั้งสำนักพิมพ์ไหนจะมีความเสี่ยงสูง ไหนจะทุนรอนที่ลงไป หาใช่ร้อยสองร้อย พิมพ์หนังสือแล้ว มีขาดทุน-กำไร กำไรพอทำเนา แต่ขาดทุนสิเจ็บปวดนัก ถ้าสายป่านการเงินไม่ยาว จบทันที ผมเคยคิดว่าชาตินี้ควรมีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง จนกระทั่งในปีหนึ่งผมตั้งสำนักพิมพ์ ‘สังคมวรรณกรรม’ขึ้น ด้วยเงินกู้จำนวน 1 แสนบาท พิมพ์ผลงานของตัวเอง”

ผลงานเล่มนั้นก็คือรวมเรื่องสั้น “เงาเหงาหลังผ่านกรอบแว่น” ยอดพิมพ์ 1,000 เล่ม ฝากจำหน่ายที่สายส่งเคล็ดไทย คงจะเป็นเพราะเรื่องสั้นขายยาก ดังที่รู้กันอยู่ ประกอบกับยุคโซเชียลฯเข้ามาพอดี ปรากฏว่า...

“หนังสือขายได้ 200-300 เล่ม ผลก็คือ ขาดทุน ต้องเอากลับมาแจกห้องสมุดต่าง ๆ แจกเพื่อน ๆ ขายบ้าง บางทีก็ไม่ได้เงิน ไม่เหลือทุนดำเนินต่อ กลายเป็นความเจ็บปวดและซากปรักมาถึงวันนี้”

 

 

“ความสำเร็จนั้น บ่อยครั้งเกิดขึ้นจากการก้าวพลาดไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง”(อัลเบิร์ต ไอสไตน์)