ปลายปี 2566 ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของสังคม คือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งหมด 4 ฉบับ โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพิจารณาร่าง 4 ฉบับได้แก่

1. ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

2. ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

3. ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน เป็นผู้เสนอ

4. ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง นายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะเป็นผู้เสนอ

ที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์สำคัญที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชน ผ่านการพิจารณาของสภาฯด้วย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่าพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ  ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากร่างกฎหมายส่วนใหญ่ที่เสนอเข้าสภาฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ ผ่านการพิจารณาของสภาฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียด จากนั้นจะส่งให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาอีกครั้ง ถ้ามีมติเห็นชอบจึงเสนอต่อวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเป็นความสำเร็จของร่างกฎหมายฉบับประชาชน หากแต่ในทางการเมือง ยังมีความพยายามตีความ การผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในแง่ที่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองและจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การตีความ ถอดรหัสคำให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าที่แสดงความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเป็นพันธมิตรทางการเมือง

หากแต่การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว แม้จะสะท้อนความปรองดองที่เกิดขึ้นก็จริง หากแต่ไม่อาจเหมารวมได้ว่า จะเกิดสูตรรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ในเมื่อทั้งสองพรรคยังคงเป็นคู่แข่ง ที่ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายในการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งครั้งหน้า