เสือตัวที่ 6

ภายใต้ความสงบเงียบในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย หาใช่ตัวชี้วัดอย่างแท้จริงว่าไฟใต้ได้มอดดับแล้วอย่างสิ้นเชิง หากแต่แท้ที่จริงแล้วขบวนการต่อสู้กับรัฐเพื่อเดินทางไปสู่จุดหมายสุดท้ายที่ต้องการคืออิสรภาพในการปกครองดูแลกันเองในมโนภาพที่แกนนำคนกลุ่มนี้ต้องการ ได้แปรเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่การสะสมบ่มเพาะแนวคิดอันแปลกแยกแตกต่างจากรัฐไทยอย่างเข้มข้น เป็นระบบ และมีความต่อเนื่องคงเส้นคงวาอย่างลุ่มลึก อันเป็นการสะสมพลังการต่อสู้กับรัฐที่เริ่มต้นที่ชุดความคิดที่คนกลุ่มนี้ต้องการ นั่นคือการบ่มเพาะชุดความคิดที่ตระหนักในอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มตน อันบ่งบอกถึงชาติพันธุ์ของกลุ่มคนในพื้นที่แห่งนี้ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและถูกกดทับ ทำลายล้างจากคนต่างถิ่นอย่างโหดร้าย ซึ่งเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องร่วมกันต่อสู้กับผู้รุกราน ทำลายล้างกลุ่มตนเหล่านั้นให้ถอยห่างและคืนความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อันยิ่งใหญ่ของกลุ่มตนให้ได้ในที่สุด

ชุดความคิดดังกล่าวล้วนเป็นยุทธศาสตร์การสะสมพลังทางความคิดให้คนรุ่นปัจจุบันได้ร่วมเส้นทางการต่อสู้กับรัฐอย่างทรงพลัง ทุกกิจกรรมที่กำลังขับเคลื่อนทั้งที่ลับและที่แจ้ง ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการสะสมพลังทางความคิดและจิตวิญญาณให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นปัจจุบันอย่างทรงพลังยิ่ง และมันพร้อมที่จะเดินหน้าพลังทางความคิดและจิตวิญญาณเหล่านั้นอย่างกล้าแข็งโดยที่รัฐไทยไม่อาจต้านทานได้ กิจกรรมและปฏิกิริยาหลากหลายรูปแบบที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถูกร้อยเรียงอย่างเป็นระบบ เพื่อชี้ให้เห็นว่า คนในพื้นที่แห่งนี้มีอัตลักษณ์เป็นของกลุ่มตนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของรัฐ และกำลังถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม การแห่ศพผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้หลายกรณี มีการไลฟ์สดเหตุการณ์แห่ศพและการยื้อแย่งศพในเวลาต่อมาได้ถูกนำมาสร้างความรู้สึกว่าคนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อรัฐที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมความเกลียดชังของคนในพื้นที่ที่มีต่อรัฐอย่างลุ่มลึก มีการตั้งกลุ่มตรงข้ามรัฐอย่างเปิดเผยหลายกลุ่ม อาทิ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) เปิดเผยสถิติจำนวนนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งถูกดำเนินคดีความมั่นคงในช่วงปี 2561 – 2566 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ทำกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองและกำลังขยายสมาชิกกลุ่มเครือข่ายออกไป ซึ่งพร้อมที่จะร่วมต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบที่เอื้ออำนวยเมื่อโอกาสอำนวย

การจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมในนามกลุ่มชมรมพ่อบ้านใจกล้า (Butler's Club) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคความช่วยเหลือทั้งที่เป็นตัวเงินและสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือไข่ไก่ ให้กับครอบครัวผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญจากการต่อสู้การจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐโดยกลุ่มนี้อ้างว่าผู้ถูกวิสามัญเหล่านั้น เป็นพี่น้องมุสลิมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ตลอดจนให้การช่วยเหลือคนในครอบครัวผู้สูญเสียดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียม และหลักปฏิบัติของศาสนา โดยเคลื่อนไหวในรูปของเพจชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ เป็นเพจที่ปรากฏตัวขึ้นในโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 หลังจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อมและยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา การก่อกำเนิดขึ้นของเพจชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ นอกจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับการบริจาคจากแนวร่วมทั้งที่ลับและที่แจ้ง เพื่อส่งการช่วยเหลือครอบครัวของนักรบของคนแนวคิดอุดมการณ์เดียวกันที่สูญเสียจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ และคำว่าพ่อบ้านใจกล้า อาจมีนัยหมายถึงกลุ่มนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นชายฉกรรจ์ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลายกรณีที่แม้จะมีเหตุผลในเรื่องของกฎหมายเพราะผู้ตายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และต่อสู้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คนกลุ่มนี้อ้างในแง่ของมนุษยธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การนิ่งเฉยของหน่วยงานรัฐ จากการปฏิบัติการ IO ย่อมเป็นเงื่อนไขประเด็นการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับจากการกระทำของรัฐในวงกว้างดังที่ปรากฏการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในพื้นที่อย่างน่ากังวล หากแต่ทว่าในทางตรงข้ามเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายต่อคนในกลุ่มที่มีท่าทีและการแสดงออกอันหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยการยุยงปลุกปั่น หรือกระทั่งการแสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มตนที่มุ่งสร้างความแปลกแยกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของรัฐแล้ว ก็อาจเป็นเงื่อนไขในการสร้างความบาดหมางให้เกิดกับคนพื้นที่แห่งนี้ได้ โดยซ่อนพรางกิจกรรมหรือการแสดงออกเหล่านั้นในรูปแบบวัฒนธรรมประจำถิ่นที่ยากจะแยกแยะของหน่วยงานภาครัฐได้โดยง่าย

กรณีมีหมายเรียกไปยังนักกิจกรรมที่อ้างว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 9 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ซ่องโจร จากการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมแต่งชุดมลายูฉลองเทศกาลฮารีรายอ พร้อมกล่าวคำปฏิญาณเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเมื่อเดือนเมษายน 2566 โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จชต. นั้น กำลังตกเป็นเงื่อนไขในการปลุกปั่นให้เกิดความบาดหมางของคนในพื้นที่กับรัฐมากขึ้น และนั่นคือความยากที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จะเข้าไปบริหารจัดการกับความเคลื่อนไหวของบรรดาแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกการปกครองภายในการบงการของแกนนำขบวนการระดับพระกาฬ ทำให้ความเคลื่อนไหวการต่อสู้กับรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายของขบวนการร้ายแห่งนี้มีความทรงพลัง ลุ่มลึก และแยบยลในการสะสมพลังอันยิ่งใหญ่สู่การต่อสู้ขั้นสุดท้ายของพวกเขาเมื่อโอกาสอำนวยได้ไม่ยาก