มีความเห็นต่างข้ามปี กรณีที่รัฐบาลจะออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร โดยเฉพาะถึงขั้นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมายังคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ว่ารัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้ ทั้งเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดก็ตาม เพียงแต่ต้องไปเป็นตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า

“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหาร หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

ดูเหมือนข้อความนี้ จะเป็นประเด็นสำคัญ “เฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

ซึ่งเมื่อหันไปดูความหมายของคำว่า “วิกฤติ” ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามเอาไว้ว่า วิกฤต, วิกฤต–, วิกฤติ, วิกฤติ– [วิกฺริด, วิกฺริดตะ–,วิกฺริด, วิกฺริดติ–] ว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ (ส.; ป. วิกต, วิกติ)

วิกฤตการณ์,วิกฤติการณ์ หมายถึง เหตุการณ์อันวิกฤติ เช่น เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง วิกฤตกาล, วิกฤติกาล หมายถึง เวลาอันวิกฤติ เช่น ในวิกฤติกาลข้าวของมีราคาแพงและหาซื้อยาก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีสว.บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เรื่องนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตเป็นเรื่องต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่จะทำก็บอกว่าวิกฤต พรรคที่ไม่ทำก็บอกว่าไม่วิกฤต ผมเห็นว่าต้องเอาความเป็นจริงมาพูด หากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ ให้ลงไปที่ตลาด ไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤตก็ให้มาบอกรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงกันเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจไทย อาจไม่เป็นผลดีและอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน