สถาพร ศรีสัจจัง

ปีพุทธศักราช 2567 หนังสือเรื่อง “The Prophet” หนังสือเล่มที่โดดเด่น และถูกกล่าวถึงมากที่สุดของ “ศาสดาพยากรณ์”ผู้เป็นกวีเอกของโลกชาวเลบานอน นาม “คาฮ์ลิล ญิบราน” มีอายุครบ 101 ปี พอดี

และฟังมาว่า หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงเป็นหนังสือ “ขายดีตลอดกาล” เล่มหนึ่งของโลกอยู่เช่นเดิม ได้รับการแปลและถูกพูดถึงด้วยภาษาต่างๆของชาวโลกเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆอยู่เช่นเดิม

ทำไมต้อง “คาฮ์ลิล  ญิบราน”? และ ทำไมต้อง “The Prophet” หรือ “ปรัชญาชีวิต” ในพากษ์ไทยตามคำแปลของท่านราชบัณฑิตศิลปินแห่งชาติศาสตราจารย์ ดร.ระวี  ภาวิไล?

คำ “ศาสดาพยากรณ์” นั้น พจนานุกรมแปลไทย-อังกฤษ Lexitron ให้ความหมายไว้ว่า “(n) Prophet,(syn.)ผู้ทำนาย,ผู้พยากรณ์”

ส่วนคำ “prophet” นั้น พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอ  เสถบุตร ให้คำแปลไว้ว่า “prophet : [n.] ผู้ตั้งศาสนา, ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจให้มาสั่งสอนประชาชน, ผู้เผยแพร่, ผู้ รู้เหตุการณ์ภายหน้า เช่น พระมะหะหมัด, ผู้วิเศษ [n.] คนทำนายม้า, หมอดู, โหร”

ความหมายโดยนัยที่น่าจะเลือกนำมาอธิบายในกรณีของมหากวี “ตาฮ์ลิล ญิบราน” ผู้รจนาหนังสือบทกวีร้อยแก้วเรื่อง “The Prophet” น่าจะเป็นบางส่วนตามความหมายแรกในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ไทย ฉบับ สอ  เสถบุตร ที่แปลว่า “ผู้ตั้งศาสนา ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจให้มาสั่งสอนประชาชน ผู้รู้เหตุการณ์ภายหน้า…( เช่น พระมะหะหมัด ผู้วิเศษ ส่วนนี้คงต้องตัดออก )”

ที่เลือกอธิบายความเป็น “คาฮ์ลิล ญิบราน” ผู้รจนาหนังสือเรื่อง “The prophet” ด้วยความหมายนี้ ก็เพราะน่าจะเป็นความหมายที่ตรงกับความเป็นตัวตนของคาฮ์ลิล ญิบราน ในทรรศนะของบรรดา “Gibranian” หรือ “Gibranist” ในยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

ที่ว่าเป็น “ผู้ตั้งศาสนา” ก็มีหลายใครพยายามระบุว่า คาฮ์ลิล ญิบรานนั้นเป็นผู้ยืนยันเสมอมาว่าเขานับถือ “ศาสนา”สภาวธรรม “แห่งความรัก”

ที่ว่าเป็น “ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจให้มาสั่งสอนแก่ประชาชน,ผู้เผยแพร่ และ ผู้รู้เหตุการณ์ภายหน้า” นั้น สำแดงชัดให้เห็นอยู่แล้วในวรรณกรรมเรื่องเอกของเขาคือ “The Prophet” ที่อ้างถึงมาหลายครั้งแล้วนั่นแหละ

“The Prophet” เป็นดั่ง “คัมภีร์” (ในทำนอง “พระวจนะ” ทั้งหลาย) หรือ “บทเทศนา” เพื่อมุ่งเบิกใจให้ “เวไนยสัตว์” (สัตว์ที่สั่งสอนได้) ทั้งหลายได้สำเหนียกรู้และ “ประจักษ์” ถึง “สัจจะ” ในกระบวนชีวิตมนุษย์ที่ทุกคนต้องประสบ

วิธีเล่าเรื่องที่ปรากฏในหนังสือบทกวีร้อยแก้ว (Prose poem) เรื่อง “The Prophet”นั้น ผู้เขียนคือ “คาฮ์ลิล ญิบราน” ได้สร้างตัวละครเอกนาม “อัล มุสตาฟา” ให้เป็น “ผู้รู้แจ้ง” ในทุก “ความเป็น” (Belng) และ ทุก “ชะคากรรม” (Fate) ของมนุษยชาติ(Human being)ขึ้นมา

แล้วให้เป็นผู้อรรถาธิบาย “กระบวนสัมพันธ์แห่งการดำรงชีวิต” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายแก่ชาวเมือง “ออร์ฟาลีส” ผู้สงสัยใคร่รู้แจ้งฟัง 

ปากคำทั้งหมดของ “อัล มุสตาฟา ผู้ถูกเลือก และ เป็นที่รัก” ( Al Mustafa,The Chosen and the belove)ที่กล่าวแก่ชาวเมืองออร์ฟาลีสผู้สงสัยเหล่านั้น ล้วนเป็น “การรู้แจ้ง” ในทรรศนะของกวี คือ “คาฮ์ลิล  ญิบราน” ทั้งสิ้น ทุกหัวข้อทุกประเด็น 

มีหัวข้อสำคัญเกี่ยวแก่ชัวิตของมนุษยชาติ “เรื่องอะไรบ้าง ที่คาฮ์ลิล  ญิบราน นำมาอรรถาธิบายให้เหล่าผู้คนที่เขาคาดว่าจะเป็น “เวไนยสัตว์” (สัตว์ที่สอนได้)ได้รับฟังรับรู้ เพื่อนำไปสำเหนียกและปรับใช้เพื่อ “ดำรงความมีคุณค่าแท้” ให้กับชีวิต?

ตัวละครสำคัญที่ปรากฏชื่อในหนังเรื่องนี้อีกตัวหนึ่งคือหญิงสาวนาม “อัลมิตรา” โดยปรากฏขึ้นในช่วงของการเริ่ม ตั้งคำถามต่อ “อัล มุสตาฟา” ผู้กำลังจะจากไปสู่ “เกาะแห่งชีวิต” นี้เอง 

“อัลมิตรา” ได้รับฐานะของเธอตามคำบรรยายของคาฮ์ลิล ญิบราน จากหนังสือเรื่องนี้ว่า “…เธอเป็นผู้เห็นธรรม…เธอเป็นคนแรกที่ได้พบและฟังคำกล่าวของท่าน(อัล มุสตาฟา)เมื่อครั้งที่ท่านมาถึงเมือง(ออร์ฟาลีส)ได้เพียงวันเดียว”

และเป็นผู้ตั้งคำถามเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของ “คัมภีร์” เล่มนี้รวม 2 คำถาม คือ ขอให้อัล มุสตาฟา อรรถาธิบายถึงเนื้อหาที่แท้ของคำ “ความรัก” และ “การแต่งงาน”!

จากนั้นคำถามต่างๆก็พรั่งพรูตามกันมาจาก “ประชาชนชาวออร์ฟาลีส” ตามสถานะและความอยากรู้ของแต่ละคน 

หัวข้อหรือประเด็น(Issue)ที่ถูกถาม เรียงตามลำดับเนื้อหาในหนังสือหลัง 2 คำถามแรกของอัลมิตรา ได้แก่ “คีย์เวิร์ด”ดังต่อไปนี้ :

“บุตร”/ “การบริจาค”/ “การกินและดื่ม”/ “การงาน” / “ความปราโมทย์และความเศร้าโศก”/ “บ้านเรือน”/ “เครื่องนุ่งห่ม”/ “การซื้อและการขาย”/ “อาชญากรรมและทัณฑกรรม”/ “อิสรภาพ”/ “เหตุผลและอารมณ์”/ “ความปวดร้าว”/ “การบรรลุธรรม”/ “การสอน”/ “มิตรภาพ” / “การพูดคุย”/ “เวลา”/ “คุณธรรมและความชั่วร้าย”/ “การสวดวิงวอน”/ “ความบันเทิง”/ “ความงาม”/ “ศาสนา”/…

และคำถามปิดท้าย คือคำถามของ หญิงสาวผู้รู้ธรรม “อัลมิตรา” เธอถามส่งท้ายว่า บัดนี้ เราจะได้ถามท่านถึงเรื่อง “ความตาย”

กวีนิพนธ์ร้อยแก้วที่เปรียบเสมือน “คัมภีร์” หรือ “คำสอนเกี่ยวแก่ชีวิต” เล่มสำคัญของ “คาฮ์ลิล ญิบราน” เรื่อง “The Prophet” เล่มนี้ จบลงด้วยบท “สนธยากาล” ที่เป็นเหมือนบทเทศน์ส่งท้ายของอัล มุสตาฟาต่อชาวเมืองออร์ฟาลีส ก่อนจะลาจากด้วยวาทะสำคัญๆ เช่น

“วันเวลาที่เราได้อยู่ท่ามกลางพวกเธอนั้นน้อย แต่คำกล่าวที่เราได้พูดต่อเธอยังน้อยกว่านั้น แต่ถ้าหากคำกล่าวของเราจางไปจากหูของเธอ และความรักของเราสูญไปจากความทรงจำของเธอ เราจะกลับมาอีก”

เรื่อง “The Prophet” จบเรื่องเล่าลงที่เรือของท่าน “อัล มุสตาฟหา” ค่อยๆลอยห่างออกไปจากท่า ขณะที่ชาวเมืองออร์ฟาลิสต่างร่ำไห้อาลัยและค่อยๆแยกจากกันไป 

มีเหลืออยู่แต่ “อัลมิตรา-หญิงสาวผู้รู้ธรรม” คนนั้น ที่มิได้ร่ำไห้ แต่เฝ้ามองเรือที่ค่อยห่างออกไปเรื่อยๆและ “ในดวงใจของเธอรำลึกถึงคำกล่าวของท่าน” ที่ว่า :

“ชั่วขณะหนึ่ง เพียงพักชั่วขณะในสายลม แล้วหญิงหนึ่งก็จะโอดอุ้มเราเอาไว้”