รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

Edward B. Burger & Michael Starbird ผู้เขียนหนังสือ The Five Elements of Effective Thinking เคยกล่าวไว้นานแล้วแต่ก็ยังเป็นจริงจนถึงวันนี้ว่า ‘รากฐานของความสำเร็จในทุกสิ่งนับตั้งแต่เรื่องวิชาการไปจนถึงธุรกิจ ไปจนถึงความเป็นผู้นำ ไปจนถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวและทุกสิ่งทุกอย่าง คือ การคิด (Thinking) ไม่ว่าจะเป็นการคิดที่แฝงอยู่ในสัญชาตญาณ (intuition) หรือค่านิยมที่ดี (good values) หรือในการตัดสินใจ (decision-making) การแก้ปัญหา (problem solving) หรือความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ล้วนแต่ต้องการคิดทั้งสิ้น’

การคิดนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความสมหวังในชีวิตของคนเรา ซึ่งทุกวันนี้ การทำสิ่งใด ๆ ให้ดีขึ้นต้องอาศัยการคิดที่มีประสิทธิผล (Effective thinking) กล่าวคือ การคิดไอเดียที่มีจินตนาการมากขึ้น (imaginative ideas) การเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน (complicated problems) การหาวิธีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา (finding new ways to solve problems) การตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ (aware of hidden possibilities) จากนั้นจึงลงมือทำ (taking action)

การคิดอย่างมีประสิทธิผลไม่ใช่คุณลักษณะที่ตายตัว แต่เป็นชุดของทักษะและนิสัยที่ทุกคนสามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ตลอดเวลา ผ่านการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือต้องอดทนและตระหนักว่าทุกปัญหาหรือความท้าทายจะมีวิธีรับมือที่ไม่ตรงไปตรงมาและแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท

องค์ประกอบของการคิดอย่างมีประสิทธิผลสำหรับนำมาใช้เป็นกรอบการปลูกฝังแนวทางการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ 1. เข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Understand deeply) ถามคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาหรือความท้าทายและเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว 2. ทำผิดพลาด (Make mistakes) ยอมรับว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสของการเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้โดยธรรมชาติ 3. ตั้งคำถาม (Raise questions) สร้างนิสัยความอยากรู้อยากเห็นและซักถามความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองบ่อย ๆ 4. ติดตามกระแสของความคิด (Follow the flow of idea) มองหาความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดที่ไม่ค่อยเกี่ยวกันและพิจารณาปัญหาหรือความท้าทายในมุมมองใหม่ และ 5. เปลี่ยนแปลง (Change) ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และหาทางออกจากความสะดวกสบายเพื่อผลักดันตนเอง

การเขียนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติหรือการลงมือทำได้เป็นอย่างดีในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการแสดงความคิดด้วยการเขียนจะช่วยทำให้เกิดความชัดเจน การไตร่ตรองตนเอง และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเขียนจะช่วยดึงเอาความคิดจากภายในจิตใจออกมา โดยเริ่มเขียนแนวคิดทั้งหมดออกมาไม่ว่าแนวคิดนั้น ๆ จะดูตลก ไร้เหตุผล หรือเป็นไปไม่ได้ และบางครั้งแนวคิดที่ไม่ดีที่เขียนออกมาอาจมีบางสิ่งที่ดีแฝงซ่อนอยู่ก็เป็นได้

หากมีการฝึกเขียนบ่อย ๆ ความคิดก็จะได้รับการพัฒนามากขึ้น และอาจนำไปสู่การพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย เพราะในกระบวนการเขียนจะช่วยฝึกสมองให้ทันกับความคิดใหม่ ๆ  ซึ่ง Todd Henry นักเขียนและเจ้าของบริษัท ครีเอทีฟ อธิบายว่าการเขียนนั้นช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และการจดบันทึกที่มากขึ้นก็จะเปิดโอกาสการฝึกสมองให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

เทคนิควิธีการเขียนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือการลงมือทำ เช่น ความคิดที่ชัดเจน โดยเขียนถ่ายทอดแนวคิด ค่านิยม และความเชื่อของตนเองออกมา การตั้งเป้าหมาย โดยกำหนดเป้าหมายที่เจาะจง วัดผลได้ และบรรลุผลได้ การไตร่ตรองตนเอง ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการทบทวนตนเองและปรับปรุงพฤติกรรม สื่อสารมีประสิทธิผล โดยเขียนให้สะท้อนถึงความตั้งใจ แผนการ และความคาดหวังต่อผู้อื่นให้ชัดเจน การแก้ปัญหา โดยการเขียนแยกแยะปัญหาที่ซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อยพร้อมระบุแนวทางแก้ไข เป็นต้น

 นอกจากนี้ การเขียนยังบอกถึงความรับผิดชอบ เพราะการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกที่จะต้องรับผิดชอบต่อการการกระทำตามที่เขียนมากขึ้น การจดบันทึกประสบการณ์ ความรู้ หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการเขียนจะทำให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในอนาคตได้ด้วย การเขียนยังสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจในการทำงานให้กับตนเองและผู้อื่นเช่นกัน

ไม่ผิดถ้าจะบอกว่าการเขียนเป็นพื้นที่สำหรับการจัดระเบียบความคิด การสะท้อนตนเอง และการสื่อสารที่มีประสิทธิผล เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้รวมเข้าด้วยกันแล้วจะทำให้บุคคลมีความพร้อมมากขึ้นในการแปลงการเขียนจากความคิดไปสู่การ
ลงมือทำ เนื่องจากการเขียนสะท้อนถึงความตั้งใจ การเขียนเป็นคำมั่นที่ชัดเจน และแสดงถึงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บรรลุผล โดยมีส่วนในการดำเนินการที่สอดคล้องกับค่านิยมและเป้าหมายส่วนบุคคล

หากการคิด การเขียน และการปฏิบัติมีความเชื่อมโยงกันที่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงานในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยมนุษย์และ AI ครับ