การบรรลุนโยบาย 30@30 ดูเหมือนว่าจะอยู่ไม่ไกล โดยแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  19 ธันวาคม 2566  ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) โดยจะเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยบีโอไอ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV3.5 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกว่า 30 ราย

สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567 - 2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน  100,000 บาท/คันในปีที่ 1  75,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คันในปีที่ 3-4  สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คันในปีที่ 1 35,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4 กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ

กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ. 2567 – 2568)  และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท  โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการภายใต้มาตรการ EV3.5 กรมสรรพสามิตคาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวนประมาณ 830,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน  โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี

ถือเป็นอีกก้าวในการขยับเข้าใกล้เป้าหมายเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้า หากแต่เราเห็นว่าต้องสนับสนุนให้เกิดสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศและทั่วถึง รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญคือความเชื่อมั่น