ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงาเปิดเผย ปี 2565 มีสถิติรับแจ้งเด็กหายทั้งสิ้น 251 คน เป็นสถิติเด็กหายเพิ่มเติมสูงขึ้นในรอบ 4 ปี โดยสูงกว่าปี 2564 ถึงร้อยละ 25  และยังพบว่า  ในจำนวนนี้มีเด็กที่ถูกลักพาตัว ร้อยละ 21 หรือ 52 คน

ดังนั้น แม้ปัจจุบันการโพสต์ภาพเด็กในสังคมออนไลน์ ของผู้ปกครองจะเป็นไปทั้งเพื่อเผยแพร่ความน่ารักของเด็ก ให้พี่น้องให้ชื่นชมโดยทั่วกันแล้ว ภาพเด็กและคลิปของเด็กน่ารัก ยังสามารถสร้างรายได้ และชื่อเสียง นั่นอาจทำให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสได้ แม้เราอาจจะพบว่า บางส่วนเริ่มตระหนักในการโพสต์ภาพ ที่ไม่เปิดเผยใบหน้าและสถานที่อยู่แบบเรียลไทม์ของเด็กมากขึ้นในสังคมออนไลน์ก็ตาม

ทั้งนี้ในหลายประเทศ มีการใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็ก เพื่อปกป้องสิทธิ์รวมไปถึงคุ้มครองความปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองจากการใช้โซเชียลมีเดียของพ่อแม่ได้ ดังนั้น ก่อนจะโพสต์รูปลูกทุกครั้ง เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทบทวน 6 สิ่ง ที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากภัยที่อาจเกิดจากการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียมากขึ้น

1. ไม่เปิดเผยสถานที่ โลเกชัน ก่อนกดโพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ลองเช็กสักหน่อยว่าคุณปิดการแสดงโลเกชันหรือยัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีคอยจับตาดูที่อยู่ โรงเรียน หรือแม้แต่สถานที่ที่คุณชอบพาลูกไปเช็กอิน เพื่อก่อเหตุร้ายได้ในภายหลัง

2. ไม่ตั้งค่าโพสต์รูปเป็นสาธารณะ ถ้าอยากแชร์ความน่ารักของลูกเอาไว้ดูกับญาติพี่น้องที่สนิทกันละก็ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งค่าระบุกลุ่มเพื่อนที่จะให้เห็นโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับลูกได้ แต่ถ้าอยากเก็บความน่ารักของลูกเอาไว้ดูคนเดียว ก่อนโพสต์ก็อย่าลืมตั้งค่าเป็นเฉพาะฉัน

3. งดโพสต์เรียลไทม์ อยากจะขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นลงสักหน่อย รอให้คุณและลูกออกจากสถานที่นั้นก่อนค่อยโพสต์รูปย้อนหลังก็ยังไม่สาย

4. ไม่โพสต์รูปลูกใส่ชุดนักเรียน โรงเรียนเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลักพาตัวเด็ก ดังนั้นการโพสต์รูปลูกในชุดนักเรียนทำให้ผู้ไม่หวังดี มีข้อมูลส่วนตัวของลูกมากขึ้น

5. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกในโพสต์ ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกลงในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประจำตัวต่างๆ พาสปอร์ต บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ขนมที่ลูกชอบกินหรือสถานที่ที่ลูกชอบไป

6. ไม่โพสต์รูปลูกในท่าทางที่ไม่เหมาะสม บางอิริยาบถของลูกที่คุณพ่อคุณแม่บันทึกไว้ในโซเชียลมีเดียอาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ย้อนกลับมาทำร้ายหรือทำให้ลูกอับอายในอนาคต เช่นภาพโป๊เปลือย หรือภาพล่อแหลมของลูก (ขอบคุณข้อมูลศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย)