ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

สังคม เภสัชมาลามีผลงานเรื่องสั้นและนวนิยายดังนี้ รวมเรื่องสั้น-ในทุ่งเปลี่ยว นาฏรรมไม่เปลี่ยนแปลง  บนซากปรัก และเงาเหงาผ่านหลังกรอบแว่น สำหรับนวนิยายก็มี หวดฮ้าง โรงเรียนfในภู สะพานข้ามเขา บ้านโรงสีและคนบาป

นามปากกาที่ใช้นอกจากใช้สังคม เภสัชมาลาในการเขียนงานในเชิงสร้างสรรค์แล้ว ยังมีนามปากกาอื่น ๆ อีกหลายนามปากกาได้แก่ อาคม ครูหวด ครูคม ดอน ใจบุ๋ม ฯลฯ โดยเขาใช้นามปากกาตามประเภทของงานเขียน...

“เผอิญผมมีอารมณ์หลากหลายตามแต่ช่วงอารมณ์ ผมใช้นามปากกา ‘อาคม’เขียนนิยายลึกลับเรื่องผี อาถรรพณ์หรือแม้แต่กฎแห่งกรรม ลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารหลายฉบับเช่น เรื่องผี ของน้ำมนต์ อยู่สกุล เป็นต้น เขียนไว้มากมาย แต่ไม่เคยรวมเล่ม”

นอกจากนี้เขายังเขียนงานแนวฮิวเมอร์หรือแนวอารมณ์ขัน ส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับด้วยกัน ใช้นามปากกา “ดอน ใจบุ๋ม” ดังที่เขาบอกเล่า...

“เริ่มที่ต่วย’ตูน ของพี่ต่วย(วาทิน ปิ่นเฉลียว-ห้ามเรียกคุณต่วย-555) นอกนั้นเป็นนิตยสารในเครือขายหัวเราะ เขียนเรื่องสั้นจากประสบการณ์ขัน ๆ เขียนที่ต่วย’ตูน ต่อเนื่องอยู่หลายปี พักหลังใช้ สังคม เภสัชมาลา”

“ครูหวด” นิคแนมของสังคม เภสัชมาลา เล่าที่มาของนามปากกา “ดอน ใจบุ๋ม”เป็นเกร็ดสนุกให้ฟังว่า “ดอน” มาจากชื่อโรงเรียนแรกที่สอนคือ โรงเรียนบ้านดอนขวาง ส่วน...

“บุ๋ม เป็นชื่อของครูสาวคนหนึ่งที่ไปสอนเป็นโรงเรียนแรก รักมาก จนไปนอนบ้านเขา ตั้งใจไว้ว่าจะแต่งงานกับเขา”

แฮ่ม! แค่ไปนอนบ้านครูบุ๋มเท่านั้นนะ มาฟังเขาเล่าต่อว่าวิมานรักเป็นสีชมพูรึเปล่า...

“ทีนี้ทางบ้านหมั้นหมายผู้หญิงคนหนึ่งให้แล้ว ผมไม่ยอมแต่ง เพราะผมไม่ได้รัก ผมรักบุม บุ๋มโกรธผมมาก หนีเข้ากรุงเทพฯ ไม่ยอมติดต่อกับผม ผมไม่รู้จะตามหาบุ๋มได้ยังไง ทางบ้านก็เลยถอนหมั้น จนผ่านไปปีหนึ่ง ผมกลับไปบ้านถามแม่ว่า คนนั้นเขาแต่งงานรึยัง แม่บอกว่ายัง ถ้างั้นผมจะแต่งงานด้วย”

เขารำพึงว่า นี่แหละนะที่เขาเรียกว่าเนื้อคู่ คู่กันแล้วมันไม่แคล้วกัน สรุปแล้วนามปากกา

“ดอน ใจบุ๋ม”เขาเฉลยที่มาว่า หัวใจเป็นรอยบุ๋ม(เพราะรักคนชื่อบุ๋ม-อิอิ) แต่ขอขยายต่อว่า ต่อมา หัวใจเป็นบุ๋มลึก เพราะรักคุด โชคดีมีสาวเจ้าชื่อสมหมาย ช่วยสมานแผลใจ อย่างนี้ต้องตั้งนามปากกาใหม่เป็นอนุสรณ์แห่งรักซะแล้ว

 ปัจจุบันวิมานรักของ “ครูหวด”เป็นสีชมพูหวาน เพราะมีน้องสมหมายที่ร้องเพลงลูกทุ่งออกยูทูปเช่นเพลง “ทหารพรานที่รัก” ร้องกล่อม”ครูหวด” ว้าว !หวานซะไม่มี ต่อไปต้องร้องเพลง “ครูหวดที่รัก” ว่าเข้าไปนั่น เมื่อเอ่ยถึงภรรยา เขาก็โยงไปถึงการเขียนว่า ครั้งที่มีเรื่องสั้น “วันที่พ่อกลับมา”ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์  ดีใจจนหัวใจพองโต รีบตีตั๋วไปเยี่ยมเพื่อนนักเขียนที่ยโสธรคือ วงเดือน ทองเจียว โดยไม่บอกลูกเมีย เขาเล่าเกร็ดตรงนี้แล้วนึกขันตัวเอง...

“ผมหายไปเป็นสัปดาห์ ลูกเมียถามใคร ล้วนไม่ทราบ สมัยนั้นยังไม่มีมือถือสื่อสารกัน จนเมียต้องทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้สามี ผู้ที่ตนคิดว่าล่วงลับไปแล้ว พอได้เป็นนักเขียน อารมณ์บวม ๆ ก็มา”แล้วหัวเราะฮ่า ๆ ต่อท้าย

ส่วนนามปากกา “ครูหวด”นั้น ใช้เขียนเรื่องราวในแวดวงการศึกษา ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาจารย์ ของคุรุสภา  เป็นวารสารในแวดวงครูที่มีชื่อเสียงมานาน  นามปากกา“ครูคม”ใช้เขียนคอลัมน์มในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เขียนมาเป็นเวลายาวนาน จนหนังสือปิดตัว สลับกับ “ครูแสงดาว”หรือเยี่ยม ทองน้อย นอกจากนี้เขายังมีอีกหลายนามปากกา ใช้เขียนงานแนวเริงรมย์และแนวโรแมนติกเฉพาะกิจที่ไม่ขอเปิดเผย

สังคม เภสัชมาลา ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัลได้แก่ รางวัลชนะเลิศเรื่องสั้นจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย(วรรณกรรมสัญจรปี 2532) จากเรื่องสั้น “ตุ๋ยนายและหมู” รางวัลเรื่องสั้นยอดนิยมจากนิตยสารกุลสตรี เมื่อปี 2542 จากเรื่องสั้น “บุญส่ง” เรื่องสั้นสำนวนไทยของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2540 จากเรื่องสั้น “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย”และรางวัลชมเชย เซเว่นบุ้ค อวอร์ด ปี 2547 จากรวมเรื่องสั้น “นาฎกรรมไม่เปลี่ยนแปลง”

เกียรติคุณที่ได้รับคือ ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาไทยของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามปี 2549  รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม ประจำจังหวัดชัยภูมิ ปี 2561  รางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2561 นอกจากนี้ยังมีบทบาทในฐานะที่เป็นนักเขียนภาคอีสาน ได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสานระหว่างปี 2560-ปี 2564

เหตุที่ในช่วงหลังไม่เห็นชื่อของสังคม เภสัชมาลาตามหน้านิตยสาร โดยเฉพาะหลังเกษียณจากข้าราชการครูที่จังหวัดชัยภูมิ เพราะเขามีงานอื่นรัดตัว เพราะเขาต้องทุ่มเทให้กับอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นเสมือนลมหายใจของเขาและครอบครัว เปิดฟาร์มควายชื่อ “ใบหญ้าฟาร์ม”

เขาเลี้ยงควายพันธุ์ ส่งเข้าไปประกวดควายงาม เคยขายได้ถึงตัวละล้านบาท ดูแล้วเขาน่าจะได้เป็นเศรษฐีควาย เพราะมีรายได้ฟู่ฟ่ายิ่งกว่าอาชีพครูหรือการเป็นนักเขียน แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังที่เขาเท้าความว่า..

“ผมเป็นคนชอบการเกษตรสร้างสร้าง เคยทำฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ฟาร์มนกระทา ฟาร์มวัว แต่ละฟาร์มขาดทุนหมด อาจเพราะเก่งแต่ฝัน ผมจึงสิ้นท่าหมดเงินไปหลายล้านบาท เป็นเงินที่กู้ยืมมาทั้งนั้น”

แต่ยังไม่เข็ด เลิกทำฟาร์มสัตว์ เปลี่ยนไปทำไร่บ้าง ทั้งไร่อ้อยและไร่ยางพารา ผลก็คือ ไปไม่รอด

“ใบหญ้าฟาร์มคือ ฟาร์มที่ลูกสาวกับลูกเขยสร้างขึ้นในที่ดินของผมกับภรรยา เป็นงานเกษตรกรที่ลงทุนไปมากกว่าสิบล้านบาท ที่รอดมาได้ เพราะเขาบริหารเอง ลูกสาวเป็นพยาบาลอนามัย ลูกเขยเป็นหทารสายบังคับบัญชา ต่างก็รับราชการ ผมถูกแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษา”อย่างไม่เป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง ผมช่วยอะไรได้ก็ช่วยทุกอย่าง ฟาร์มอยู่ไกลจากหมู่บ้าน 4-5 กิโลเมตร แรก ๆ ผมไปนอนเฝ้าด้วย”

สังคม เภสัชมาลาอธิบายต่อว่า รายได้หลักที่มาจากการเลี้ยงควายงาม ส่วนควายขุนธรรมดา ราคาตกต่ำ ได้แต่ประคองให้อยู่รอดไปวัน ๆ แต่ควายงามมีราคาดีมาก คนนิยมเลี้ยงไว้ดูหรือเลี้ยงไว้ประกวด ก็จะมีราคาสูงขึ้น ๆ เปรียบเหมือนควายเป็นหุ้นตัวหนึ่ง...

“ควายงามที่ใบหญ้าฟาร์มมีไม่มากนัก เด่น ๆ จะเป็นควายเผือก สนนราคาตัวละแสนถึงล้าน ควายเผือกตัวแรกชื่อปุยฝ้าย  เคยประกวดได้รางวัลในงานเกษตรแฟร์ เขาขอซื้อตัวละ 3 ล้าน ลูกไม่ขาย ตอนนี้เลยขายไม่ออก  ปุยฝ้ายมีลูกชื่อปุยฝนกับฟ้าไทย ปีนี้ก็ส่งประกวดได้รางวัลทั้งสองตัว ทำฟาร์มควายไม่ใช่งานหมู ยุ่งยากหลายอย่าง โดยเฉพาะควายงาม ต้องสร้างคอนโดควาย มีรางอาหาร มีสระว่ายน้ำ ทุกอย่างต้องสะอาด”

ในเวลานี้สังคม เภสัชมาลาเป็นที่ปรึกษา “ใบหญ้าฟาร์ม”อย่างเดียวแล้ว ไม่ลงพื้นที่ไปนอนเฝ้าหรือวิ่งไล่ต้อนควายอีก สังขารของเขาไม่เอื้อและมีโรคภัยเกาะกุม เขาจึงพอมีเวลาให้กับการเขียนหนังสือ โดยสร้างสรรค์ผลงานนวนิยายเรื่องใหม่ชื่อ “ใต้ถุนฉินพลี” เขามีความคิดเห็นต่อวงวรรณกรรมในปัจจุบันว่า อุปสรรคของคนเขียนหนังสือก็คือ เขียนหนังสือแล้วไม่มีที่ตีพิมพ์ ด้วยเหตุที่ว่า...

“สนามในนิตยสารต่าง ๆ แทบไม่เหลือแล้ว หนทางการแจ้งเกิดในสนามกระดาษแทบไม่

มีที่แจ้งเกิด แต่ชดเชยด้วยวิถีออนไลน์ สำนักพิมพ์ออนไลน์ในโลกโซเชียลฯมีมากมาย ส่งไปตีพิมพ์ได้เลย ส่วนคนอ่านจะมากหรือน้อย ขึ้นกับตัวผลงาน แต่งานสร้างสรรค์ขายลำบากหน่อย โลกของการเป็นนักเขียนทุกวันนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก วันหนึ่ง ๆ มีนักเขียนเกิดขึ้นมากมาย แต่จะเหลือรอดยาวนานหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เขามีความเห็นว่า การที่จะมีวรรณกรรมอมตะอยู่ยงคงกระพันอย่างสมัยก่อนเกิดขึ้น มีน้อยมาก ยิ่งสังคมการอ่านของประเทศอ่อนแอ งานวรรณกรรมยิ่งเกิดและยืนอยู่ได้ยากยิ่ง  กระนั้นสังคม เภสัชมาลายังมีความเชื่อมั่นว่า...

“คนอยากเขียนหนังสือไม่เคยตายไปจากโลกนี้ ตราบที่มีลมหายใจ วรรณกรรมยังคงมีอยู่ ตราบนั้น”

 

 

ฉันขอบอกกับเธอว่า หนังสือคือเพื่อนที่อ่อนหวาน และไม่ตำหนิติเตียนสำหรับคนที่มีความทุกข์และถ้าหนังสือไม่สามารถทำให้เราชื่นชมกับชีวิตได้ อย่างน้อยเขาก็จะสอนเราให้รู้จักอดทนต่อชีวิต”(จี.เค. เชสเตอร์ตัน นักเขียนชาวอังกฤษ) อย่างน้อยพวกเขาก็จะสอนเราให้รู้จักอดทนต่อชีวิต"