วันก่อนพบคลิปวิดีโอที่แบ่งปันเรื่องราวอันมีคุณค่า จากช่อง “อัญ อินพุทธ” ในแอปพลิเคชั่น “ติ๊กต็อก” ซึ่งนำบางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ ดาราสาวท่านหนึ่งแบ่งปันวิธีพาตัวเองออกจากโรคแพนิคและซึมเศร้าภายใน 1 เดือน ด้วยหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ การทักอารมณ์ ควบคู่กับการระลึกถึงพระรัตนตรัย        

ซึ่งขออนุโมทนาบุญ ในกุศลของการแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่กับความทุกข์จากโรคดังกล่าว และบุคคลทั่วไปที่อาจรู้หรือไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นอาจเข้าข่ายภาวะโรคดังกล่าว

และเมื่อค้นเข้าไปในข้อมูลข่าว ของกรมประชาสัมพันธ์ ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจและเชื่อมต่อกันได้ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ โดยเป็นข้อมูลจาก นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ที่ออกมาแนะวิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น  

โดยนายแพทย์กิตต์กวี เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีผู้เป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.2 ล้านคนในประเทศไทย แต่ยังมีหลายคนที่มีอาการแต่ไม่เข้าใจว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือคิดว่าไม่เป็นอะไรจนอาการมาก บางคนอาจแสดงออกตรงข้ามเพื่อบอกว่ายังไหว บางครั้งเรียกว่า ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Smiling depression) คือการแสดงออกที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แทนที่จะรู้สึกเศร้า หดหู่ หงุดหงิด เก็บตัว ร้องไห้ กลับแสดงออกถึงความรู้สึกที่ในทางตรงกันข้าม ได้แก่ การยิ้ม หัวเราะ คิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งการดูแลที่สำคัญ คือ เพื่อน ครอบครัว หรือครู ให้ช่วยกันสังเกตและเฝ้าระวังผู้มีประวัติโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีปัญหาในชีวิต ผู้ที่มีอาการด้านอื่น ๆ ของพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับ ไม่อยากกิน และเมื่อรู้สึกว่าคนใกล้ชิดมีปัญหาแนะนำให้ลองทำแบบสำรวจภาวะซึมเศร้าและสุขภาพใจ ผ่านทาง MENTAL HEALTH CHECK IN (MHCI) หรือ www.วัดใจ.com หรือชวนไปพบบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตเพื่อไม่ให้สายเกินไปและเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพอื่น ๆ อาการที่พบมีหลายอาการ ได้แก่ เศร้า เบื่อหน่าย หงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่อยากทำอะไร รู้สึกสิ้นหวัง ร่วมกับอาการนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร สมาธิลด อ่อนเพลีย ขาดความมั่นใจ การตัดสินใจไม่ดี อาการพวกนี้มีมากจนมีปัญหาการใช้ชีวิตและนานหลายอาทิตย์ บางคนอาจมีความคิดอยากตายร่วมด้วย 

“ทั้งนี้ 8 วิธีรับมือภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นด้วยตัวเอง ได้แก่ ร้องไห้บ้างก็ได้นะ ยิงกลั้นน้ำตามากเท่าไหร่ ยิ่งเศร้ามากขึ้น, ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้ม ทำหน้าบึ้งบ้าง เครียดบ้างก็ได้, ผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร ลดความสมบูรณ์แบบลงสักนิด, เปิดใจยอมรับว่าตัวเรามีภาวะซึมเศร้า, บอกคนที่ไว้วางใจ ถึงสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ กล้าระบายความรู้สึกหรือขอความช่วยเหลือ, เขียนไดอารี่ระบายความรู้สึก โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่กล้าเปิดใจกับใคร, ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพให้ตัวเองดูดี ทุกคนมีข้อเสีย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ, ไม่ควรปล่อยให้ภาวะซึมเศร้าคงอยู่นาน เพราะมีโอกาสทำร้ายตัวเองได้”

ไม่ว่าจะเป็นหลักคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาและ8วิธีรับมือตามคำแนะนำของแพทย์ หากประกอบเข้าด้วยกัน ก็เชื่อว่าจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะโรคนี้ได้ ไม่มากก็น้อย