สถาพร ศรีสัจจัง

“เมื่อความรักร้องเรียกเธอ  จงตามมันไป แม้ทางของมันนั้นจะขรุขระและชันเพียงใด และเมื่อปีกของมันโอบรอบกายเธอ จงยอมทน และเมื่อมันพูดกับเธอ จงเชื่อตาม แม้เสียงของมันจะทำลายความฝันของเธอดั่งลมเหนือพัดกระหน่ำสวนดอกไม้ให้แหลกลาญไปฉะนั้น ความรักมิให้สิ่งอื่นใด นอกจากตนเอง และก็ไม่รับเอาสิ่งใด นอกจากตนเอง ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก…”

ถ้าเป็นการทำ “คลิป” เพื่อการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน นี่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการเปิดฉาก “EP.แรก” ของเรื่อง “The Prophet” หรือ “ปรัชญาชีวิต” บทกวีเรื่องยาวชิ้นเอกของมหากวี “คาฮ์ลิล ญิบราน” แห่งเลบานอน

ถ้อยรจนาอันรื่นไพเราะดังกล่าวคือบางส่วนของคำตอบจาก “The Prophet” คือ “อัล มุสตาฟา” ที่ คาฮ์ลิล ญิบราน สร้างขึ้นเพื่อให้เป็น “ปาก” กล่าวคำแทนตน เมื่อถูก “อัลมิตรา” ตัวละครสำคัญอีกตัวในท้องเรื่องตั้งคำถามว่า “ได้โปรดบอกเราถึงเรื่องความรัก”

ญิบราน เริ่มเนื้อหาหลักในการอรรถาธิบาย “ปรัชญาชีวิต” ของมนุษย์ด้วยคำ “ความรัก” แล้วตาม “EP.2” ด้วยคำถามจาก “อัลมิตรา หญิงสาวผู้รู้ธรรม” คนเดิม ด้วยคำว่า “การแต่งงาน”

และ “The Prophet” ของเราก็กล่าวอธิบาย(บางส่วน)ไว้ว่า : “เธอเกิดมาด้วยกัน และเธอก็จะอยู่ด้วยกันตลอดไป” “แต่ขอให้มีช่องว่างในการอยู่ด้วยกันของเธอ” “จงรักกันและกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งความรัก” “จงร้องและเริงรำด้วยกัน และจงมีความบันเทิง แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว  ทว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน และจงยืนอยู่ด้วยกัน แต่อย่าใกล้กันนัก เพราะเสาของวิหารนั้น ก็ยืนอยู่ห่างกัน และต้นโอ๊คต้นไซเพรส ก็มิอาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันและกันได้” แล้วต่อด้วยคำถามเรื่อง “บุตร”

ซึ่ง The Prophet ตอบ(บางส่วน)ไว้ว่า : “บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่มิได้มาจากเธอ เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้ แต่อย่าพยายามให้เขาเหมือนเธอ เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน…”

จากนั้นท่าน “ศาสดาพยากรณ์” ก็ตอบคำถามต่างๆเรื่อยไป จนถึงหัวข้อ “การงาน” (Work) ท่านตอบแบบสรุปความได้สั้นสุดด้วยข้อความบางประโยคในข้ออรรถาธิบายนั้นเอง ว่า “การงานคือความรักปรากฏตนเป็นรูปร่าง” (Work is love made visible) ตามมาด้วยหัวข้อ “บ้านเรือน” และ ท่านตอบ (บางส่วน)ว่า :  “อย่าให้บ้านของเธอเป็นสมอ จงให้มันเป็นเสาใบ”ฯ ตามมาด้วยคำถามเกี่ยวกับความหมายของ “การสอน” ที่ท่านตอบ(บางตอน)ว่า : “ไม่มีมนุษย์อาจเปิดเผยสิ่งใดแก่เธอได้ นอกจากสิ่งที่นอนซบเซาอยู่ก่อนแล้ว ในขณะรุ่งอรุณแห่งปัญญาของเธอเอง ครูผู้เดินอยู่ภายใต้ร่มเงาโบสถ์ในท่ามกลางสานุศิษย์ มิได้ให้ปัญญาของท่าน แต่ให้ความเชื่อมั่นและความรักแก่ศิษย์ ถ้าท่านเป็นปราชญ์อย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะไม่นำเธอก้าวล่วงเข้าสู่เคหาสน์แห่งปัญญาของท่าน แต่จะนำเธอไปสู่แทบธรณีแห่งดวงจิตของเธอเอง”

แล้วสรุปจบลงในบรรทัดก่อนสุดท้ายแบบสั้นๆว่า “เพราะว่า การเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้” และใน “EP.สุดท้าย” (เฉพาะเนื้อหาหลักในส่วนการตอบคำถามแก่ชาวเมือง “ออร์ฟาลีส”) เป็นเรื่อง “บทสุดท้าย” จริงๆของชีวิตมนุษย์ทุกคน นั่นคือการอรรถาธิบายถึงเรื่อง “ความตาย” หัวข้อนี้นับว่าสำคัญมากสำหรับทุกคน จึงทิ้งท้ายแบบงำๆไว้สักหน่อยก็น่าจะดี  ใครที่อยากรู้จริง ว่าท่าน “Prophet” หรือ “ศาสดาพยากรณ์” ของเราตอบว่าอย่างไร ก็คงต้องไปแสวงหาเอาเองมั่งละกระมัง ก็เพื่อ “การเริงปัญญา” นั่นไง!

เพราะไม่เช่นนั้นหนังสือ “The Prophet” ในพากย์ไทยที่ชื่อ “ปรัชญาชีวิต” ที่ท่านราชบัณฑิตทางดาราศาสตร์-ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อุตส่าห์ใช้ความตั้งใจจริงและวิริยอุตสาหะแปลไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ2500 ด้วยสำนวนแปลที่อาจเรียกได้ว่า “เลอเลิศมหัศจรรย์” คือเป็นการแปล “บทกวีจากภาษาหนึ่งมาเป็นบทกวีอีกภาษาหนึ่ง”  แบบที่ “นายผี” หรือ ท่านอัศนี  พลจันทร์ เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า “เป็นการแปลบทกวีเป็นบทกวี ไม่ใช่ทำให้สามานย์ไป”

บอกกันขนาดนี้  ฉายหนังตัวอย่างให้เห็นกันขนาดนี้ บอกถึงขนาดว่าเป็น “หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล” เล่มหนึ่งก็แล้ว บอกถึงขนาดว่า “มกุฏ อรฤดี” ท่านศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ได้พัฒนาปรับปรุงรูปแบบการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้เพื่อให้งดงามแข็งแรงสมเกียรติภูมิมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนเพิ่งจัดพิมพ์ครั้งล่าสุด เป็น “เวอร์ชัน”พิเศษฉลองอายุหนังสือครบร้อยปีวางแผงมาหมาดๆ ใครไม่ตามเก็บตามหามาประดับหมอนนอนอ่าน เพื่อเพิ่มแรงปัญญาแรงใจกันอีกละก็…ไม่รู้จะหาคำอะไรมาพูดแล้วละ นอกจากคำๆเดียวคือ “พลาด”!!