ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ผมเห็นชื่อของเสถียร ยอดดี ครั้งแรกจากเรื่องสั้น “สุดสายแนน” ในนิตยสารช่อกระเกด ฉบับที่ 15 ใจต่อใจ เมื่อปี 2536 ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ อีกหลายปีต่อมา จึงเห็นชื่อของเขาอีกครั้ง เมื่อได้รับรางวัลสุภาว์ เทวกุล จากนวนิยายเรื่อง “ไทเผีย”

“ในวัยเด็กผมไม่ค่อยมีหนังสืออ่านมากนัก เพราะโรงเรียนบ้านนอกสมัยนั้นไม่มีห้องสมุด แต่โชคดีเป็นคนอ่านหนังสือแตก ครูประดิษฐ์ โสมณวัตร ท่านมักจะเรียกไปอ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งพลอยได้ซึมซับจากเรื่องที่อ่านตั้งแต่นั้นมา”

เสถียร ยอดดี เล่าถึงการบ่มเพาะการอ่านครั้งวัยเยาว์ ซึ่งปลูกฝังให้เขามีความรักในการอ่านหนังสือ จากจุดนี้เอง เมื่อเขารับราชการครู เขาได้นำไปทำโครงการอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ฟัง ดังที่เขาบอกเล่า...

“เด็ก ๆ ชอบมาก ได้ผลัดเปลี่ยนกันอ่านหนังสือให้ครูฟังทุกเช้า เรื่องนึ้ต้องขอความร่วมมือจากครูประจำชั้น ถ้าครูให้ความร่วมมือและเอาใจใส่ เด็ก ๆ ก็มีกำลังใจ ห้องสมุดของโรงเรียนคึกคักมาก เด็ก ๆ มีความกระตือรือร้นไปอ่านหนังสือในห้องสมุด บางคนยืมหนังสือมา แล้วมาอ่านให้เราฟังเลย”

เขาเล่าต่อว่า แม้ขณะที่ครูนั่งเล่นใต้ร่มไม้ เด็ก ๆ ยังชวนกันไปอ่านให้ฟัง  ทั้งที่เป็นเด็กชั้นประถม นอกจากทำให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือแตกแล้ว ยังได้ความรู้ที่พอกพูนขึ้นในตัว แล้วเขาเท้าความถึงการอ่านตอนโตว่า...

“พอโตขึ้นหน่อย พ่อก็เอาหนังสือมาจากบ้านอา ซึ่งมีสามีเป็นนายทหาร เป็นนิตยสารบางกอก สกุลไทย ชนวน แต่ก็ไม่ได้อ่านต่อเนื่อง คนชนบทหาหนังสืออ่านยากมาก ไม่มีเงินที่จะซื้ออ่าน หาร้านหนังสือก็ไม่มีหรอกครับ เพราะอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นร้อยกิโลเมตร แทบไม่เคยเข้าตัวเมืองเลย”

ด้วยเหตุนี้การอ่านหนังสือของเขาจึงไม่มีความต่อเนื่อง  เป็นไปอย่างค่อนข้างกระท่อนกระแท่น เพราะความขาดแคลนปัจจัยสำคัญคือ เงินที่จะซื้อหนังสือ จนกระทั่ง...

“เมื่อผมบวชเป็นพระ ผมมาตื่นตาตื่นใจกับหนังสือมาก ผมบวชที่หล่มสัก(จังหวัดเพชรบูรณ์) พระอาจารย์วิจิตร ท่านเป็นนักอ่าน มีหนังสือเต็มตู้ ทำให้ได้อ่านหนังสือเป็นกิจจะลักษณะ”           

เสถียร ยอดดี มีโอกาสซื้อนิตยสารฟ้าเมืองทองเป็นครั้งแรกที่มีนักเขียนรุ่นครู-อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ นอกจากนี้ยังซื้อหนังสือเล่มแรกในชีวิตชื่อ “โคลนติดล้อ” ของอัศวพาหุ(นามแฝงของรัชการที่ 6) และผลงานของไม้ เมืองเดิมทุกเล่ม ยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อเขามีโอกาสได้เข้ากรุงเทพฯ  เหมือนกับได้เปิดโลกใบใหญ่ให้กับเขาในเรื่องการอ่าน นั่นก็คือ...

“ผมไปสนามหลวง ตี่นเต้นมาก เมื่อเจอแผงหนังสือมือสอง ผมซื้อหนังสือหอบกลับวัด อ่านทั้งวันทั้งคืน การอ่านจึงเริ่มต่อเนื่องนับแต่นั้นมา”

หนุ่มน้อยวัย 20 กว่าอ่านหนังสือที่ซื้อมาอย่างมีความสุขด้วยความอิ่มเอมใจ ต่อมา เขาจึงซื้อนิตยสารแนวการเมืองมาอ่านได้แก่ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ อาทิตย์(เคล็ดลับ) สยามนิกร แม้กระทั่งนิตยสารบู๊โลดโผนอย่างบางกอกและทานตะวัน เป็นอาทิ เมื่ออ่านมากเข้า จึงเป็นแรงกระตุ้นทำให้เขาอยากเขียนหนังสือ...

“ผมส่งเรื่องสั้นไปที่ฟ้าเมืองไทยให้ลุงอาจินต์(อาจินต์ ปัญจพรรค์ ) ไม่ผ่านลงตีพิมพ์ แต่ผ่านลงตะกร้า ท่านมีจดหมายแนะนำให้กำลังใจแก่นักอยากเขียนห ผมว่าเรื่องนี้เยี่ยมมาก มีบรรณาธิการไม่กี่คนที่ทำอย่างนี้ อีกคนคือทวีสุข ทองถาวร(คุมคอลัมน์ “กังวานใจ”ใช้นามปากกานิภา บางยี่ขันของภรรยา) เคยมีจดหมายแนะนำ สมัยคุมบัญชรกวีที่ขวัญเรือน ผมว่าเป็นกำลังใจและช่วยจุดไฟฝันให้กับผู้เริ่มเขียนหนังสือมาก”

ผลงานชิ้นแรกของเสถียร ยอดดีที่ได้ตีพิมพ์ เป็นบทกลอนชื่อ “เด็กดี” ลงคอลัมน์สโมสรสมานมิตร ในนิตยสารสกุลไทยเมื่อปี 2529 ที่มีกุลทรัพย์ รุ่งฤดี(กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ) เป็นผู้ควบคุมคอลัมน์ เขาเปิดเผยความรู้สึกที่ผลงานได้ลงครั้งแรกว่า...

“ดีใจมาก คิดว่าจะเก็บเงินนั้นไว้ แต่สุดท้ายก็ใช้หมด” เขาหัวเราะต่อท้าย “ ก็คนมันจนน้อ เงินทองที่ไหนจะค้างกระเป๋า”

หลังจากลาสิกขา เสถียร ยอดดีก็เขียนกลอนเรื่อยมา ได้ลงบ้าง ไม่ได้ลงบ้าง  แต่ไม่ได้มุ่งมั่นจริงจังอะไรนัก จากนั้นไปเรียนต่อที่วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ หลังจากเรียนจบ ไปเป็นครูสอนภาษาไทยระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนปริยัติสามัญวัดไพรสณฑ์ศักดาราม อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์...

“วัดนี้เป็นวัดใหญ่ มีพระเณรสี่ห้าร้อย โรงเรียนนี้ดังมาก ภาษาไทยได้ที่หนึ่งของประเทศ นักเรียนที่สอบบัณฑิตแนะแนวได้ที่หนึ่งของภาคเหนือ จบแล้ว ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยของรัฐเยอะ ประสบความสำเร็จทางการงาน ก็มาเยี่ยมวัด”

ช่วงที่เขาสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้เป็นเวลา 5 ปี ทำให้เขามีเงินซื้อหนังสือมาอ่านมากมาย ไม่เคยขาด จากนั้นเขาก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ได้ตีพิมพ์ที่นิตยสารไทนคร แต่เขาจำชื่อเรื่องไม่ได้ แม้ไม่ได้ค่าเรื่อง  แต่ทำให้มีเขามีกำลังใจมาก กระทั่งเรื่องสั้นเรื่องที่สองได้ลงที่นิตยสารช่อการะเกดที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการ เรื่องสั้นเรื่องนั้นก็คือ...

“สุดสายแนน ช่อการะเกดนี่เองที่เป็นไฟกองใหญ่ ทำให้ผมอ่านและเขียนอย่างบ้าคลั่ง เขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารต่าง ๆ ได้ตีพิมพ์ตลอด เงินเรื่องสั้นเลี้ยงชีวิตในยามที่เงินเดือนครูเหลือน้อย”

นักเขียนชาวโคราชผู้นี้บอกเล่าความรู้สึกว่า เขาถือว่างานเขียนมีบุญคุณของกับเขามากและจากการที่เขาได้อ่านหนังสือทุกเล่มและทุกนักเขียน ต่างก็มีส่วนผลักดันและแรงจูงใจที่ทำให้เขาอยากเป็นนักเขียน...

“เห็นภาพครูนิมิตร ภูมิถาวร ในฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทองในสมัยนั้น แล้วก็วงเดือน ทองเจียว พอมาอยู่อีสานรู้จักโชติ ศรีสุวรรณ(นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน) ให้กำลังใจและให้คำแนะนำดีมาก อ่านงานที่ผมเขียนให้ ตอนที่มารับราชการครูที่โคราช  เรื่องสั้นที่ลงช่อกระเกด โชติเป็นคนส่งให้”

ในเวลาต่อมา เสถียร ยอดดี ได้สร้างงานเขียนประเภทต่าง ๆ อีกมากมายกว่า 10 นามปากกา โดยเฉพาะมีนามปากกาหนึ่งที่ใช้เขียนนวนิยายหลายร้อยตอน แต่กว่าจะมีวันนี้ เขาย้อนรำลึกถึงครั้งอดีตที่เขียนหนังสือว่า ช่วงหนึ่งเกิดความท้อแท้มาก เพราะชีวิตในช่วงนั้นยังเร่ร่อน ไม่มีงานการที่มั่นคง ต้องดิ้นรนเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้หมดสิ้นความอยากที่จะเป็นนักเขียน จนคิดจะเลิกเขียนหนังสือ แต่เป็นเพราะได้กำลังใจสำคัญ นั่นคือ...

“นับตั้งแต่ได้รับจดหมายแนะนำจากลุงอาจินต์(อาจินต์ ปัญจพรรค์) ทำให้ผมมีกำลังใจ มีไฟ จึงพยายามเขียนต่อไป”

       

    

“อะไรที่ดูเหมือนเป็นความยากเย็นเข็ญใจ แท้จริงแล้วย่อมแฝงไว้ด้วยสิ่งดีๆ อยู่ภายใน”( ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนและกวีชาวไอริช)