ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ที่ขออนุญาตนำการสนทนาธรรมเรื่อง “สติ” ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  จากเพจเฟซบุ๊ก รวมธรรมะ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต มานำเสนอ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เขียนจดหมายตอบ ดร.วิรไทดังนี้

“...หลักปฏิบัติพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ที่เรียกกันว่าการปฏิบัติธรรมนั้น นอกจากให้ตั้งอยู่ในศีล คือมีวินัยแล้ว เริ่มด้วยหลัก 3 อย่าง คือ

1. อินทรียสังวร คือปกครองอินทรีย์ได้ หรือการรู้จักใช้อินทรีย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัสกาย ให้ได้ความรู้ หรือได้เรียนรู้ หรือได้ศึกษา ไม่ไหลไปตาม ความรู้สึกที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ มีคำอธิบายว่า อินทรียสังวรนั้น สำเร็จด้วยสติ, เมื่อรับรู้ เช่น เห็น ได้ยิน ถ้าสติ ไม่มี คือเผลอ ก็จะพลั้งจะพลาดไป แทนที่จะได้ความรู้ ก็ตกไปใต้อำนาจความรู้สึก เช่นได้แค่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วเขวออกไปนอกทาง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อ สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ก็จะทำให้อินทรียสังวรบริบูรณ์

2.โภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค หรือกินเสพแค่พอดี ข้อนี้เป็นเรื่องของปัญญา แต่ก็สำเร็จด้วยสติ ดูง่ายๆ อย่างพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า คนที่มีสติอยู่เสมอ รู้จักประมาณ (รู้พอดี) ในโภชนะที่ได้มาจะมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า ครองอายุได้ยืนยาว

3. ชาคริยานุโยค คือการหมั่นเพียรทำกิจของผู้มีสติตื่นอยู่โดยมาก ข้อนี้ขยายการมีสติสัมปชัญญะออกไปในการทำกิจหน้าที่ประจำของตัว แม้เมื่อพักผ่อน ก็นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะต่อจากนี้ ก็ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะในการเคลื่อนไหวดำเนินชีวิต ในการทำกิจกรรมทุกอย่าง

หลักปฏิบัติสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ โยนิโสมนสิการ - การมนสิการโดยแยบคาย การรู้จักคิดรู้จักพิจารณา หรือคิดเป็น โยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดปัญญา แต่การใช้หรือปฏิบัติโยนิโสมนสิการนั้น ดำเนินไปได้ด้วยสติ ดังนั้น การใช้โยนิโสมนสิการ จึงเป็นการเจริญสติไปด้วย ดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "โยนิโสมนสิการบริบูรณ์ ก็ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์” เมื่อมาถึงโยนิโสมนสิการนี้ ก็จะเห็นว่า ในกระบวนการสร้างปัญญา สติเป็นตัวทำงานสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีการรับรู้ด้วยอินทรียสังวร และในตอนสำคัญที่สุด คือ การคิดพิจารณาที่เป็นโยนิโสมนสิการ

บทบาทสำคัญของสติ สรุปได้ด้วยวิธีปฏิบัติในหลักใหญ่ที่ครอบคลุมว่า

-สตินำหน้า พาไปหาสมาธิ คือ สมถะ

-สติจับไว้ ให้ปัญญาดูเห็นชัด คือ วิปัสสนา

อาตมาขอฝากส่งมาเผื่อจะช่วยเสริมหรือประกอบเรื่องที่ได้พูดคุยกันเมื่อวานนี้

และโปรดไม่ต้องกังวลที่จะตอบใดๆ

ขออนุโมทนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต)

9 พฤษภาคม 2566” (จบ)