ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

หลังจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้เริ่มต้นขึ้น คนทั่วโลกต่างจับตามองว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่อะไรต่อ พร้อมเฝ้าระวังว่าเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายไปสู่สงครามระดับภูมิภาคหรือระดับโลกหรือไม่ มาจนถึงวันนี้ ภาพของความขัดแย้งนี้เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นและมีทีท่าที่จะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ

เมื่อปลายปีที่แล้วเราได้ยินชื่อของกลุ่มกบฏ “ฮูตี” ในเยเมน ที่ออกมาประกาศสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลและสหรัฐฯอย่างรุนแรง พร้อมกับมีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเสียหายต่อเรือบรรทุกสินค้าอิสราเอล และเรือสินค้าอื่นๆที่จะส่งสินค้าไปยังอิสราเอล ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าจำนวนมากไม่สามารถใช้ทะเลแดงเป็นเส้นทางสัญจรได้ จนจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางอื่นที่ไกลกว่า ส่งผลต่อการเดินทางและกลายเป็นต้นทุนมหาศาล

คาดกันว่า การกระทำของกลุ่มฮูตีนั้น ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้น สหรัฐฯก็ได้จับมือกับชาติพันธมิตร เปิดฉากตอบโต้ทางอากาศกับกลุ่มฮูตีอย่างรุนแรงเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และเป็นการยกระดับสงครามในครั้งนี้

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มฮูตีก็ได้โจมตีเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอังกฤษด้วยมิสไซล์จนเกิดเพลิงไหม้ ก่อนจะพยายามโจมตีเรือตรวจการณ์ของสหรัฐฯที่ชื่อว่า USS Carney ในทะเลแดง เคราะห์ดีที่ฝ่ายสหรัฐฯสามารถยิงสกัดไว้ได้ทัน

สถานการณ์เช่นนี้บอกอะไรแก่เราบ้าง?

สถานการณ์ที่เกิดแสดงให้เห็นว่า สงครามในตะวันออกกลางที่แรกเริ่มเหมือนจะเป็นเพียงอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ได้เริ่มขยายตัวจนเห็นความชัดเจนมากขึ้น

จากเดิมที่กลุ่มอาหรับยังคงดูท่าที ไม่แสดงออกด้วยความชัดเจน จะมีบ้างก็เพียงการประณามตามวิถีทางการทูต มาวันนี้หลายประเทศเริ่มมีภาพที่ชัดเจนว่าให้การสนับสนุนกลุ่มต่างๆที่สนับสนุนปาเลสไตน์ ตัวอย่างเช่นอิหร่าน ที่นับวันจะยิ่งถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มฮูตี คอยสนับสนุนด้านอาวุธและงบประมาณให้กลุ่มฮูตีปฏิบัติการป่วนในทะเลแดง

ในขณะที่สหรัฐฯกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญไปแล้วหลังจากการโจมตีกลุ่มฮูตีเมื่อกลางเดือน

สงครามที่หลายคนเคยกล่าวไว้ว่า เป็นสงครามระดับประเทศ ที่หากจะเป็นระดับภูมิภาคก็คงเป็นลักษณะ “สงครามตัวแทน” ที่ประเทศอื่นๆหลบอยู่ในเงา เห็นทีจะเปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน หากจะบอกว่านี่อาจเป็นลักษณะสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่ต่างฝ่ายต่างฮึ่มใส่กัน หากจะรบกันซึ่งหน้าก็จะเป็นสงครามตัวแทน ก็เห็นทีจะไม่ค่อยเหมือนตามนิยามของสงครามเย็น

สหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้เล่นหลักที่หลายๆคนคิดว่าอยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนอิสราเอล มาวันนี้เปิดฉากออกหน้าเต็มตัว กลายเป็นหนึ่งตัวละครในความขัดแย้งแบบเต็มตัวหลังจากการปฏิบัติการโจมตีกลุ่มฮูตี

ถือได้ว่า ปัญหาในตะวันออกกลางได้ยกระดับไปแล้วโดยปฏิเสธไม่ได้

มาถึงจุดนี้ก็ได้แต่เฝ้าดูสถานการณ์ว่าฝั่งประเทศอาหรับ และไม้เบื่อไม่เมากับสหรัฐฯอย่างอิหร่าน จะกระโดดลงมาเป็นตัวละครหลักแบบที่สหรัฐฯทำหรือไม่ และเมื่อไร และจะเกิดการเลือกค่ายของประเทศต่างๆหรือไม่

ถึงวันนั้น เชื่อว่าปัญหาตะวันออกกลางจะขยายตัวไปอีกระดับ และอาจทำให้โลก “ร้อน” ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เอวัง