“เชื่อว่ากฎหมายไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า กฎหมายร่างด้วยมือมนุษย์ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ คิดว่าต้องมีอะไรไม่ปกติ”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าระบุ

จริงอยู่ที่ว่า ฝ่ายนิติบัญญัตินั้นสามารถแก้ไขกฎหมายได้ ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาสภาพสังคมและบริบทต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามยุคสมัย กฎหมายที่เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคมไทย จึงต้องมีการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกหรือตรากฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อให้ทันกับยุคสมัย ที่สำคัญคือเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า      

แต่ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเสนอนำโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น  ไม่ว่าจะเป็นการย้ายหมวด เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เหตตุยกเว้นโทษ แก้ให้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้นั้น และกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดแล้วว่า เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จะขอหยิบยกบางช่วงบางตอนนำจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมานำเสนอดังนี้ “ผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์รณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกมาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สส.และสมาชิกของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นนายประกันผู้ต้องหา ความผิดตามมาตรา 112 และเคยแสดงความเห็นทั้งให้แก้ไข และยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง”

บางช่วงบางตอนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" เป็นรูปแบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ส่วนคำว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐ ว่าประเทศนั้นปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์

โดยหลักการมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการหรือคุณค่า ทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิ หรือเสรีภาพที่จะส่งผล เป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐาน ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่​ให้เสื่อมทราม หรือสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยใช้สิทธิเสรีภาพ ทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้”