สถาพร ศรีสัจจัง

หนังสือ “สมุดภาพ 180 ปีเมืองสงขลาฯ” เป็นหนังสือที่เน้นนำเสนอภาพเก่าของเมืองสงขลาในรอบ 180 ปี ที่พ้นผ่าน ในทำนอง “สมุดภาพ” จัดทำแบบปกแข็งเย็บกี่ พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดีทั้งเล่ม หนา 336 หน้า หนังสือแบ่งสาระเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเป็น “บันทึกเหตุการณ์เรียงตามลำดับปีพ.ศ.” (Timeline) ส่วนที่ 2 เป็นประมวลภาพเก่า และ สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา ภาพทั้วหมดเป็นภาพขาว-ดำ

อาจารย์วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ บรรณาธิการ ผู้เขียน “บันทึกเหตุการณ์สำคัญ 180 ปี เมืองสงขลา” เขียนคำโปรยนำก่อนถึงส่วนเนื้อหาที่เป็น “timeline” เรียงปี (จากพ.ศ.2385-2566) เชิงชี้แจงอย่างได้ความสรุปว่า :

“พ.ศ 2565 เป็นวาระครบ 180 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราช ทานหลักไชยไม้ไชยพฤกษ์แก่เมืองสงขลา เพื่อเป็นเสาหลักเมือง ในคราวย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสน มายังฝั่งบ่อยาง กองบรรณาธิการและคณะทำงาน ได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา ด้วยความมุ่งหมายที่จะได้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสืบค้นและยันทีกไว้โดยสังเขป

การนำเสนอลำดับเรื่องราว ในเหตุการณ์สำคัญ 180 ปี เมืองสงขลานั้น ได้เรียงลำดับตามเวลา ก่อน-หลัง ที่เกิดเหตุการณ์เท่าที่ค้นคว้าข้อมูล จากหลักฐานและแหล่งข้อมูลต่างๆได้ เหตุการณ์ใดซึ่งมีวันที่ เดือน และปี เป็นข้อมูลชัดเจน ก็จะนำเสนอไว้ ส่วนเหตุการณ์ใดที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ก็จะอนุมานไว้ในห้วงปีพ.ศ.ที่ใกล้เคียง เพื่อการสืบค้นที่ชัดเจนต่อไป…"

“สำหรับภาพถ่ายและเอกสารสิ่งพิมพ์เก่า ได้นำเสนอโดยการจัดเป็นภาพชุด จากแหล่งที่มา จากเจ้าของภาพ ตลอดจนหัวข้อและยุคสมัยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ตัวอย่างบันทึกเหตุการณ์บทแรก :  

“…พ.ศ.2385 สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กำแพงเมืองสงขลาสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  โปรดเกล้าฯพระราชทานเทียนไชยหลักไชยพฤกษ์ และเครื่องไทยทาน เพื่อเป็นเสาหลักเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ณ วันศุกร์ เดือนธ ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1204 เวลา 7 นาฬิกา 10 นาที ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2385…”

และบันทึกสุดท้าย : “พ.ศ.2566 ประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคม เป็น วันนวมินทรมหาราช…”

นอกจากอาจารย์วุฒิชัย  เพ็ชรสุวรรณ บรรณาธิการ  คุณเอนก  นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขา วรรณศิลป์ ที่ปรึกษาการจัดทำหนังสือและเขียนคำนิยม แล้ว อีก 2 บุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ คืออาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ แห่งโรงเรียนมหาวชิราวุธ และคุณรังษี  รัตนปราการ เจ้าของโรงสี “หับโห้หิ้น” หรือ “โรงสีแดง” ที่เป็น “แลนด์มาร์ก” สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสงขลาเก่าในปัจจุบัน

อาจารย์จรัส  จันทร์พรหมรัตน์ นั้น เป็น “ลูกสงขลาแท้” เกิดเติบโตและร่ำเรียนหนังสือที่เมืองนี้มาโดยตลอด เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ ศิษย์เก่า มศวสงขลา(มหาวิทยาลัยทักษิณปัจจุบัน) ปัจจุบันเป็นอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งของโรงเรียนมหาวชิราวุธ เป็นผู้สนใจและเก็บหลักฐานเก่าเกี่ยวกับเมืองสงขลา ทั้งที่เป็นภาพเก่า ภาพยนตร์เก่า สิ่งพิมพ์เก่า เครื่องถ้วยของใช้ และ ของเล่นเก่า ฯลฯ โดยเฉพาะมาอย่างยาวนาน เป็นคนเริ่มต้นจัดทำ “หอจดหมายเหตุ” ของโรงเรียนมหาวชิราวุธจนได้รับรางวัลพระราชทาน ฯลฯ และอาจารย์จรัสฯนี่แหละคือผู้สร้าง “คอนเนกชั่น” กับนักสะสมเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองสงขลาเก่าทั้งหลาย จนสามารถนำภาพและสิ่งของจำนวนมากเหล่านั้นมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้

อีกท่านที่ต้องนับว่าสำคัญสุด เพราะเป็นที่มาของการก่อเกิดหนังสือนี้ ก็คือคุณรังสี  รัตนปราการ คหบดีคนสำคัญแห่งเมืองสงขลาปัจจุบัน ผู้มีความตั้งใจมั่นในการมุ่งผลักดันเมืองสงขลาให้เป็นเมืองมรดกโลกมาแต่ต้น ทำให้ท่านใช้ทั้ง “พลังชีวิต” และ “พลังทุน” หนุนช่วยทุกทางเพื่อการนี้มาโดยตลอด ขนาดยก “โรงสีแดง” ในเป็น “ฐานที่มั่น” สำคัญ ในการทำกิจกรรมเผยแพร่เรื่องราวของเมืองสงขลาเก่ามาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

และการสนับสนุนทุนเพื่อการจัดทำหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่แจ่มชัดเพื่อการณ์ดังกล่าว!

ฟังมาว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีวางจำหน่ายในที่ใด ท่านใดที่อยากได้เป็นเจ้าของ หรืออยากร่วมกุศลเจตนากับ “ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม” และ คุณรังษี รัตนปราการ ก็คงจะต้องหาช่องทางติดต่อขอรายละเอียดกับทางผู้จัดทำโดยตรงละกระมัง ไม่มีเบอร์อะไรที่จะบอกให้ติดต่อได้ แต่ถ้าลองเปิดดูเพจของ “ภาคีคนรักสงขลาสมาคม” ดู แน่นอนว่าคงจะพบช่องทางติดต่อได้อย่างแน่แท้!!