รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

แม้ว่าเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในหลายแง่มุมขององค์กร แต่คุณภาพและความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ยังคงขาดไม่ได้ในการบรรลุความสำเร็จที่ยั่งยืน มนุษย์มีความจำเป็นและความสำคัญทั้งในวันนี้และอนาคตสำหรับการขับเคลื่อนความสำเร็จใหม่ ๆ ขององค์กร แล้วองค์กรจะสร้างวัฒนธรรมการทำงานใด? เพื่อช่วยให้ งานเดิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ “มนุษย์องค์กร” ไม่ล้าและไม่ไฟมอดไปเสียก่อน องค์กรจะเป็น “Power Bank” ให้กับบุคลากรอย่างไร? เพื่อให้บุคลากรเต็มไปด้วยพลัง แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ พร้อมก้าวออกจากพื้นที่เก่า ที่ปลอดภัย เดินหน้าเข้าสู่พื้นที่ใหม่เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ที่ท้าทายกว่า เข้มข้นกว่า และหนักหน่วงกว่า แต่เต็มไปด้วยความสนุกและความสุขอย่างต่อเนื่อง

ในที่นี้ขอเสนอ “วัฒนธรรมการทำงานที่ช่วยให้งานเดิน” งานไม่สะดุด เต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทุ่มเทงานให้กับองค์กร และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่และการมีส่วนร่วมของบุคลากร คือ วัฒนธรรมแห่งความสำคัญในที่ทำงาน (Culture of Mattering at Work) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเชิงบวกช่วยสร้างและบ่มเพาะประสบการณ์การทำงานที่ดี

วัฒนธรรมแห่งความสำคัญในที่ทำงาน (Culture of Mattering at Work) เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้สึกของการมีคุณค่า การได้รับการชื่นชม และการได้มีส่วนร่วมในการสร้างความแตกต่างที่มีความหมาย เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์และมีบทบาทสำคัญต่อความพึงพอใจในการทำงาน แรงจูงใจ และความเป็นอยู่ที่ดี ความสำคัญในที่ทำงานยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพ (Health) และความเจริญรุ่งเรือง (Thriving) ขององค์กรด้วย

เมื่อบุคลากรรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญในที่ทำงาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ ความพึงพอใจกับงานและชีวิตของตนเองมากขึ้น (More satisfied with jobs & life) มีแนวโน้มที่จะแสวงหาตำแหน่งผู้นำมากขึ้น (Are more likely to seek out leadership positions) และมีโอกาสในการคิดลาออก รู้สึกเบื่อหน่าย ซึมเศร้า และวิตกกังวลเกี่ยวกับงานลดลง (Less likely to quit and have lower rates of burnout, depression & anxiety) นอกจากนี้ ยังพบว่าการที่บุคลากรรับรู้ว่าตนเองมีความสำคัญในที่ทำงาน จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมั่นในความสามารถของตนต่อการบรรลุเป้าหมายมากขึ้น

บุคลากรสามารถสำรวจตนเองว่ามีความสำคัญในที่ทำงานผ่านการตอบแบบสำรวจความคิดเห็น 2 ส่วน จำนวน 7 ข้อคำถาม ส่วนแรก: ความสำเร็จ (Achievement) จำนวน 3 ข้อ และส่วนที่สอง: การยอมรับ (Recognition) จำนวน 4 ข้อ ซึ่งแต่ละ ข้อคำถามมีคะแนนเต็ม 5 ถ้าให้ 5 คะแนน คือเห็นด้วยอย่างยิ่ง และถ้าให้ 1 คะแนน คือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากนับได้คะแนนรวม 13 คะแนนขึ้นไปในส่วนแรก (Achievement) และ 15 คะแนนในส่วนที่สอง (Recognition) แสดงว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องสูงมากในที่ทำงาน

ส่วนที่ 1: ความสำเร็จ 1. งานของฉันมีส่วนช่วยให้องค์กรของฉันประสบความสำเร็จ 2. คุณภาพงานของฉันส่งผลต่อองค์กรของฉันอย่างแท้จริง และ 3. งานของฉันมีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรของฉัน

ส่วนที่ 2: การยอมรับ 1. องค์กรของฉันยกย่องผลงานของฉันต่อสาธารณะ 2. เพื่อนร่วมงานของฉันชื่นชมงานของฉัน 3. ฉันมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพงานในองค์กรของฉัน และ 4. งานของฉันทำให้ฉันโด่งดังในที่ทำงาน

สำหรับวิธีที่ผู้นำองค์กรจะช่วยให้บุคลากรภายในองค์กรรู้สึกเป็นผู้ที่มีความสำคัญในที่ทำงาน อาทิ แบ่งปันความเชื่อและความสามารถของบุคลากรให้ผู้อื่นรับรู้ บอกให้ผู้อื่นรับรู้ถึงสิ่งที่ผู้นำต้องพึ่งพาบุคลากรเหล่านั้น ถ่ายทอดบทเรียนที่ล้มเหลวหรือ มีความท้าทายที่เกิดขึ้นให้รับรู้ทั่วกัน รับรู้ถึงความพยายามของบุคลากร ให้เวลากับบุคลากร จดจำชื่อของบุคลากรให้ได้ กล่าวขอบคุณเมื่อบุคลากรทำสิ่งใดให้ กล่าวทักทายตอนเช้าหรือสอบถามว่าสบายดีไหม? เป็นต้น การกระทำของผู้นำที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่แตกต่างจากการให้รางวัลหรือการยกย่องอื่น ๆ ที่เป็นทางการ เพราะทำให้บุคลากรรับรู้ถึงตัวตนและความสำคัญในสิ่งที่ทำให้กับที่ทำงานหรือองค์กร

เมื่อบุคลากรรับรู้ถึงความสำคัญของตนเองในที่ทำงานแล้วจะทำให้รู้เหตุผลและคำตอบในใจตัวเองว่า เหตุใดจึงตื่นขึ้นมาทุกวันและทำสิ่งที่ตนเองทำ และที่สำคัญคือช่วยเติมความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และความสามารถในการยืนหยัดต่อช่วงเวลาที่ท้าทาย ซึ่ง Paula Davis ซีอีโอของ Stress and Resilience Institute และเป็นผู้เขียน Beating Burnout at Work: Why Teams Hold the Secret to Well-Being & Resilience มองว่า วัฒนธรรมแห่งความสำคัญในที่ทำงาน เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกความรู้สึกไม่ผูกพันในที่ทำงาน และความรู้สึกท่วมท้นและอิดโรยที่บุคลากรจำนวนมากรู้สึกทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน

ดังนั้น ผู้นำองค์กรต้องทำให้บุคลากรรับรู้และรู้สึกได้ว่าตนเองกำลังได้รับการสังเกตเห็น มีความสำคัญและความจำเป็นต่อที่ทำงานหรือองค์กร “วัฒนธรรมแห่งความสำคัญในที่ทำงาน” หรือ “Culture of Mattering at Work” เน้นความสำคัญ การยอมรับ ความเป็นเจ้าของ ความสัมพันธ์ โอกาสเติบโต การปฏิบัติที่เป็นธรรม และการได้รับการรับฟัง จนสร้าง แรงขับเคลื่อนนำไปสู่ความพึงพอใจในงาน ลดความเครียด สร้างความผูกพันหรือภักดี มุ่งประสิทธิภาพ ตลอดจนความรู้สึกที่มีคุณค่าต่อตนเองในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของทีมและองค์กร

“องค์กรเขยิบเติบโตสำเร็จยั่งยืน เมื่อคนทำงานไม่ถูกละเลย” ครับ...