วันวาเลนไทน์ เป็นวันแห่งความรัก แม้บรรยากาศประเทศไทยในเวลานี้จะดูอึมครึม และเขม็งเกลียว จากปัจจัยทางการเมือง กลิ่นอายของความปรองดองนั้นเริ่มจางลง บางกลุ่มบางฝ่ายประหวั่นวิตกไปถึงเงื่อนไขที่อาจพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา และในปี 2555-2556 ได้มีความพยายามในการออกกฎหมายปรองดอง และกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว

ขณะที่ในการรรณรงค์นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองรอบใหม่ มีประเด็นที่ยังเห็นแย้งในคดีความผิดตามมาตรา 112 อยู่ โดยเฉพาะคนในฝั่งของพรรคก้าวไกล

“กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ดีกฎหมายคือเรื่องปลายทาง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือกระบวนการที่ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง และความสมานฉันท์มามากมาย แต่ปรากฏว่า ยังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นภาพเป็นผลชัดเจน”

รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ พร้อมแนะแนวทางว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือกระบวนการพูดคุยหารือร่วมกัน ด้วยหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ช่วงความขัดแย้งร่วมสมัยในประเทศไทยที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ยุทธพร ยอมรับว่า ประเด็นเรื่อง ม.112 เป็นประเด็นที่มีความสำคัญประการหนึ่ง เพราะในระยะระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคคลที่ต้องคดีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีกระบวนการในการใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง จึงต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ มีการเปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกฝ่าย ทั้งประชาชน และฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้น การพูด และมองอย่างรอบด้านในประเด็นนี้ จะต้องหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อให้สามารถคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งสำคัญตรงนี้ได้พอสมควร

“ผมยังเชื่อมั่น ว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัย และบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดให้คนทุกกลุ่ม ร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีวุฒิภาวะ”

นั่นก็เป็นความเห็นของนักวิชาการ กระนั้น วาเลนไทน์ปีนี้ ขอให้เป็นปีสุดท้าย ที่เราจะได้มีโอกาสเห็นความปรองดองเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงภาพฝัน หรือเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่งแล้ว เก็บผลการศึกษาไว้บนหิ้งเหมือนที่ผ่านมา