สถาพร ศรีสัจจัง

“เรือนไทยพื้นถิ่นรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา” เป็นชื่อหนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่งเล่มหนึ่ง!

เป็นหนังสือที่ ผู้จัดทำและเจ้าของ “เรื่อง” (content) คือ อาจารย์ศตวรรษ  ช่วยนุ่ม ศิลปินสาขาทัศนศิลป์ผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง ได้ใช้เวลานานหลายปี เดินทางตระเวนไปในพื้นที่ต่างๆรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาและบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดพัทลุง  สงขลา นครศรีธรรมราช และที่เป็นบริบท เช่นตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี พังงา และ ภูเก็ต(อย่างละ 1 ภาพ/หลัง) เป็นต้น จนทั่ว

เพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ “เรือนไทยพื้นถิ่น” หรือ “สิ่งปลูกสร้างพื้นบ้าน” ทั้งที่เป็นศาลา กุฏิ วิหาร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเรือนหรือโรงเรือนต่างๆของชาวบ้านเป็นหลัก

โดยบันทึกทั้งปากคำผู้เกี่ยวข้อง โดยภาพถ่าย และ “ภาพวาดเส้น” ไว้เป็นข้อมูลดิบ (Raw data) หรือหลักฐานปฐมภูมิ(Primary source) ก่อนจะนำมาเฟ้นคัดสร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ภาพวาดเส้น” ที่สมบูรณ์ แล้วจัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือเล่มทำนอง “สมุดภาพ” ดังที่อาจารย์ได้เขียนไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า

“…ด้วยข้อจำกัดและศักยภาพของผมที่มีอยู่ ผมจึงใช้การบันทึกภาพเรือนพื้นถิ่นด้วยลายเส้นปากกา นำเสนอความงามและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของเรือนพื้นถิ่นรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา ที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย ในรูปแบบ “หนังสือภาพ” ที่เน้นความงามทางผลงานศิลปะ มากกว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม”

หนังสือปกแข็งเย็บกี่ เนื้อในพิมพ์บนกระดาษอาร์ตอย่างดี สีออกโทนเทาอุ่นตา ความหนารวม 266 หน้า  ออกแบบจัดรูปเล่มเรียบง่าย แต่เป็นระเบียบงดงาม ตามรูปแบบหนังสือ “Art book” ชั้นดี ทั่วไปเล่มนี้ มีภาพปกที่อาจารย์ศตวรรษวาดเส้นจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ทรงถ่ายภาพเรือนของราษฎรเมืองสทิงพระ หลังหนึ่งไว้เมื่อครั้งเสด็จประเพาสเมืองสงขลา…

นี่นับเป็นเรื่องมงคลแต่เบื้องต้น!

ในจำนวนความหนา 266 หน้ากระดาษอาร์ตของหนังสือ “เรือนพื้นถิ่นรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา” เล่มนี้ แม้จะเป็น “ภาพวาดเส้น” ที่อาจารย์ศตวรรตมุ่งนำเสนอเป็น content หลักถึง 200 กว่าหน้า แต่ส่วนที่ถือว่าเป็น “ตัวบท” (Text) ก็นับว่าได้ช่วยอรรถาธิบายให้ความเข้าใจถึงเรืองราวของเรือนพื้นถิ่นของชาวบ้านรอบลุ่มทะเลสาบและบริบท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างค่อนข้างแจ่มชัดทีเดียว

เพราะนอกจากบทความเรื่อง “เรือนพื้นถิ่นรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา” ซึ่งอาจารย์ศตวรรษเขียนขึ้นเหมือนต้องการให้เป็นเสมือน “บทนำเรื่อง” ของหนังสือนั้น ก็ได้อธิบายถึงเรื่องราวและบริบทที่เกี่ยวกับภาพวาดเส้นที่ปรากฏในเล่มไว้อย่างกว้างขวางชัดเจน บทส่งท้ายของอาจารย์สมคิด ทองสง อดีตผู้บริหารโรงเรียนมัธยมและนักเขียนคนสำคัญของจังหวัดพัทลุงก็ยิ่งเพิ่มความแจ่มชัดในเรื่องดังกล่าวยิ่งขึ้น

ที่สำคัญก็คือ หนังสือเล่มนี้มีศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้เขียน “คำนิยม” ให้ถึง 2 คน ทั้ง 2 คนที่ว่าก็ล้วนเป็น “เลือดเนื้อเชื้อไข” ของคนลุ่มทะเลสาบสงขลาแท้ๆ คือคุณเอนก  นาวิกมูล นักสะสม ของเก่าและนัก “พิพิธทัศนา” คนสำคัญของสังคมไทย คุณเอนกนั้นเป็นชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อีกคนคือสถาพร  ศรีสัจจัง ที่เป็นลูกพัทลุงมาแต่ต้นเค้า

คุณเอนกได้ลงลึกอรรถาธิบายให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้เห็นชัดอย่างเป็นรูปธรรมว่า ที่เรียกว่า “รอบลุ่มทะเลสาบสงขลา”เป็นอย่างไร ลองฟังบางตอนดู

“จากสิงหนครตรงไปทางทิศเหนือ ผ่านอ.สทิงพระ ที่มีเจดีย์วัดพะโคะของหลวง่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดบนเนินเขาเป็นจุดเด่น ขึ้นบันใดไปจะมองเห็นทะเลหลวงหรืออ่าวไทยทางทิศตะวันออก กับทะเลสาบทางทิศตะวันตกได้

จากสทิงพระต่อไปอีกราว 30 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าอำเภอระโนด…ต่อไปวนซ้ายขึ้นสะพาน ลอยไปทางอุทยานนกน้ำทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง…ถนนเล็กจะพาเราผ่านเขาไชยสน  บางแก้ว  ปากพะยูน ปากรอ ควนเนียง  แล้วมีทางให้เลือกไปทางรัตภูมิ หาดใหญ่ หรือเข้าสงขลาอีกทีตามใจสมัคร…”

ส่วน สถาพร  ศรีสัจจัง นั้นจะให้ภาพความเป็นลุ่มทะเลสาบและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนเก่าของแถบถิ่นนั้น ไว้ไม่น้อยเหมือนดัน เช่น

“…ในพิกัดพื้นที่กว่าหกสิบหมื่นไร่/เทือกเขานครศรีธรรมราชอันดิบชื้นพาดโอบอยู่เบื้องทิศตะวันตก/สันกาลาคีรีสะบัดเฉียงอยู่ด้านใต้…/ทิศตะวันออกเป็นทะเลเค็ม/…เปิดปากแผ่นดินทะลักน้ำทะเลเข้าหนุนผสาน/…ปันห้วงน้ำเป็น 3 เวิ้งใหญ่มาแต่โบราณ/เป็นเค็ม เป็นกร่อย เป็นจืด/เป็นทะเลล่าง ทะเลหลวง และทะเลน้อย…/สร้างคน สร้างเมือง และสร้างอารยธรรม”

จากที่เขียนเล่ามา คงพอจะทำให้เห็นภาพกว้างๆได้ประมาณหนึ่งละกระมังว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะมีคุณค่าแก่ผู้สนใจ ทั้งในกลุ่มผู้นิยมงานศิลปะ การท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม คติชนวิทยา และอื่นๆอย่างไร

หนังสือไม่มีวางขายทั่วไป แต่ฟังมาว่าใครที่สนใจสามารถติดต่อถามหารายละเอียดได้ที่เจ้าของหนังสือโดยตรง คือที่อาจารย์ศตวรรษ  ช่วยนุ่ม หมายเลขโทรศัพท์ 09-8758-1178…เพราะเห็นเป็นหนังสือดีจริง !