รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คำกล่าวที่ว่า "มหาวิทยาลัยจะถึงกาลล่มสลายในปี 2030" ไม่ใช่ทั้งเรื่องจริงหรือความฝันแต่อย่างใด? แต่การกล่าวเช่นนี้เป็นเพียงข้อเสนอสมมติหรือความคิดเห็นที่สะท้อนถึงความวิตกกังวลอย่างยิ่งยวดเกี่ยวกับอนาคตของการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะตลอดช่วงเวลาของทศวรรษที่ผ่านมาภูมิทัศน์ของการศึกษาระดับอุดมศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับ ความท้าทายที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น เงินงบประมาณ เทคโนโลยี โรคระบาด ประชากรวัยเรียนลดลง ความล้าหลังทางวิชาการ และประเด็นทางสังคม เช่น ธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม ความหลากหลาย เป็นต้น แต่การคาดการณ์ว่ามหาวิทยาลัยจะมาถึงจุดสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030 ในความเป็นจริงนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ มากมาย และยังต้องเผชิญต่อไปกับความไม่แน่นอนที่คาดเดายาก แต่การล้มหายตายไปอย่างสิ้นเชิงของมหาวิทยาลัยไม่น่าจะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่มหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดหย่อน เชื่อว่าต้องมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง “รอด” และได้ไปต่อ แม้ว่าลมหายใจของมหาวิทยาลัยบางช่วงเวลาและบางจังหวะอาจจะ “ตก” หรือ “แผ่ว” ลงบ้าง แต่ก็จะดีดกลับมาแข็งแรงเช่นเดิมแน่นอนถ้าไม่ยอมวางมือไปเสียก่อน

มหาวิทยาลัยต้องเป็นไผ่ที่ลู่ลมที่จะไม่ล้มลงแม้ลมจะแรงเพียงใด เพียงแต่ต้องหนักแน่นต่อจุดยืนทั้งการสอน การเรียนรู้ การวิจัย การบริการวิชาการ และการบำรุงศิลปวัฒนธรรม พร้อมรับและเตรียมพร้อมต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทิศทางของมหาวิทยาลัย ด้วยมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเตรียม “คน” สร้างความพร้อมด้วยการมอบโอกาสให้ “คน” ได้สั่งสมทักษะ ความรู้ และทัศนคติก่อนเข้าสู่โลกของการทำงานจริงจัง หากมหาวิทยาลัยอ่านเกมหรือทำนายภาพอนาคตไม่ออกหรือผิดไปจากความเป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวาง เพราะการผลิตคนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้จริงจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาสังคมและประเทศ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับโลก

มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รอดอย่างไร?

มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีกลยุทธ์ที่เพื่อรับมือกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ประกอบด้วยการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ การเปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น การระดมทุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง การตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ยังคงเป็นความหวังของสังคม มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ “Match” กับความเปลี่ยนแปลงที่เป็น ความต้องการใหม่ของทุกภาคส่วนให้สำเร็จ เมื่อนั้นมหาวิทยาลัยก็จะมีลมหายใจที่ยืนยาวและไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลง กล้าเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นต่อการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องมี “คนเก่ง” ที่เป็นพลังที่มีศักยภาพในการฝ่าฟันความท้าทายที่พุ่งชนเข้าใส่มหาวิทยาลัย ทุกเวลา การจะคงอยู่ให้กล่าวถึงว่าเป็น "วิวัฒนาการ" หรือการยอมแพ้จนนำไปสู่ "ความตาย" หมดลมหายใจไปก่อน ขึ้นอยู่กับมุมมองและ คำจำกัดความเกี่ยวกับบทบาทและค่านิยมหลักของมหาวิทยาลัย

เมื่อมองมายังมหาวิทยาลัยไทย ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทยขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดยอาศัยพลังความคิด พลังปัญญา และความร่วมแรงร่วมใจกันสู่การลงมือทำของ “คนมหาวิทยาลัย” ซึ่งหัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยให้รอด รอด และรอดคือ “ผู้นำมหาวิทยาลัย”

คุณลักษณะของผู้นำมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทยในยุค Generative AI หรือ GEN AI ซึ่งเป็นองค์ประกอบตัวใหม่ล่าสุดที่กลายเป็น “Game Changer” หลักของทุกวงการไปแล้ว คือการมองเห็นภาพอนาคตหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ผู้นำมหาวิทยาลัยต้องมองเห็นภาพอนาคตของการศึกษาล่วงหน้า และกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยให้ชัด มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะอนาคต และความเข้าใจเทคโนโลยี ผู้นำมหาวิทยาลัยต้องมีความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผลทางการศึกษาในไม่ช้านี้

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทักษะของผู้บริหาร” ประกอบด้วย ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ - คิดเชิงกลยุทธ์และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย ทักษะการเป็นผู้นำ - สร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทักษะการสื่อสาร - สื่อสารภาพอนาคต วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยให้กับบุคลากรรับรู้และเข้าใจเป็นภาพเดียวกัน ทักษะการเจรจาต่อรอง - เจรจาต่อรองกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อดึงงบประมาณหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ทักษะการแก้ปัญหา - สามารถแก้ปัญหาที่ง่าย ๆ ไปจนถึงปัญหาที่สลับซับซ้อน ทักษะการตัดสินใจ - ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันหรือวิกฤติ ทักษะการบริหารจัดการ - บริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียม และทักษะการเป็นนักคิด - คิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล คิดก้าวหน้า และไม่หยุดคิด นอกจากนี้ ยังมีคุณลักษณะอื่นที่ผู้นำมหาวิทยาลัยควรมี อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม ความยืดหยุ่น ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ และความเมตตา เป็นต้น

มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความอยู่รอดมหาวิทยาลัย เมื่อผู้นำมหาวิทยาลัยเก่ง ก็ต้องดึงและผลักให้คนเก่งทำงานให้มหาวิทยาลัยด้วย ถ้าทำได้เช่นนี้มหาวิทยาลัยจะไม่ตาย กลายเป็นตำนานเรื่องเล่าของมหาวิทยาลัยต่อไป