ความเห็นต่างระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจากกรณีนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต และเรื่องดอกเบี้ย

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มีข้อมูลทางเศรษฐกิจจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสศช. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาส 3/66 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง ส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่สภาพัฒน์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ (เดือน พ.ย.66) ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% 

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคา 2567 นายพรชัย ฐีระเวช  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2566  คาดว่า ขยายตัวที่ 1.8% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 1.6-2.0% จะลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% ปัจจัยจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดอกเบี้ย มีประเด็นที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติห่วงใย เนื่องจากพบปัญหาหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษเริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาทางฝั่งภาครัฐ หรือรัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการช่วยเกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว เร่งงบประมาณปี 2567 เร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบประจำต่อเนื่อง และรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องดังนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ

เลขาธิการสศช. ระบุว่า สิ่งที่พิจารณาในช่วงถัดไปอย่างจริงจังคือ “มาตรการด้านการเงิน” น่าจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้ โดยเฉพาะการลดภาระครัวเรือนและเอสเอ็มอี อย่างมาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง เพราะตัวธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันต้องดูมาตรการในส่วนของการกำหนดชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำยังควรมีมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิตต่อไปอีกระยะ

นั่นก็สะท้อนข้อมูลตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจ ที่ก็ต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อนโยบาลสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนโยบายการเงินของประเทศอย่างไร