เสือตัวที่ 6

แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ฉบับปรับปรุงล่าสุดที่คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพทั้งไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นจะมีการ ตกลงที่จะมีการประชุมในปลายเดือนกุมภาพันธุ์นี้ และในเดือนมีนาคม เพื่อหารือแผนงานสู่สันติสุขฉบับปรับปรุง เช่นเดียวกับการหยุดยิงระหว่างเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ โดยทั้งสองฝ่ายคาดหวังในการเห็นพ้องในหลักการร่วมกันโดยเห็นชอบในหลักการ JCPP มี 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ที่ดูประหนึ่งว่าเป็นความคืบหน้าของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่จัดวางขึ้นในอดีตภายใต้ชื่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม อันเป็นแนวทางที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน

ในหลักการ JCPP ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ได้นำเสนอประเด็นแนวทางยุติความรุนแรงร่วมกันกับบีอาร์เอ็นเร่งด่วนโดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมซึ่งเริ่มวันที่ 10 มีนาคม ต่อเนื่องด้วยฮารีรายอ แล้ววันสงกรานต์ของพี่น้องชาวพุทธ โดยได้มีการเตรียมความพร้อมไว้หลายเรื่องเพื่อสนองตอบแนวทางยุติความรุนแรงในพื้นที่อาทิ การลดจำนวนการปิดล้อม เรื่องของด่านตรวจในพื้นที่การปลดป้ายหมายจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ต้องการตัว การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ เป็นต้นซึ่งก่อนหน้านี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ดำเนินการไปบ้างแล้วและจะดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดการหวาดระแวงซึ่งกันและกันให้เหลือน้อยที่สุด ตลอดจนลดเงื่อนไขในการปลุกระดมคนในพื้นที่ของขบวนการเห็นต่างจากรัฐต่อกลุ่มเป้าหมายให้น้อยลง

แต่อย่างไรก็ตาม หลักการในการยุติความรุนแรงในพื้นที่แห่งนี้ไม่สามารถสำเร็จลงได้อย่างแท้จริงจากหน่วยงานของรัฐเพียงฝ่ายเดียว หากไม่ได้รับความร่วมมือในการยุติการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น โดยตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือ การยุติการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มคนหัวรุนแรงติดอาวุธในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าหลักการยุติความรุนแรงตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ได้รับการปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมของบีอาร์เอ็นอย่างจริงจัง และกลุ่มบีอาร์เอ็นคือตัวจริงที่มีอำนาจมากพอในการสั่งการให้กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ยุติการก่อเหตุร้ายได้อย่างแท้จริงถ้าในช่วงหลังจากนี้ไป หากคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นสามารถที่จะสื่อสารไปยังกองกำลังติดอาวุธของเขาในพื้นที่ว่า จะไม่ก่อเหตุความรุนแรงตามระยะเวลาที่ได้พูดคุยตกลงร่วมกันไว้ ซึ่งนั่นจึงน่าจะเป็นเหตุผลให้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐจะประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ดังกล่าว

ความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จะต้องเกิดจากผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม สมดุลทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญยิ่งคือ การได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเห็นต่าง ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความจริงใจของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายบีอาร์เอ็น ด้วยขณะที่การพูดคุยฯ มีขึ้นในประเทศมาเลเซีย ต้นเดือนกุมภาที่ผ่านมา ที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ก็ยังคงเกิดเหตุร้ายในพื้นที่ โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้ ใช้อาวุธยิงสงครามนานาชนิดยิงถล่มเข้าใส่ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ เป็นเหตุให้ เจ้าหน้าที่เสียชีวิต เหตุนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ข้อเรียกร้องในเงื่อนไขต่างๆ ผ่านเวทีการพูดคุยสันติสุขของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นด้วยเป็นสำคัญ เพราะหากรัฐสนองตอบเงื่อนไขใดๆ โดยไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร ก็จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานรักษาความมั่นคงในพื้นที่ได้ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งนั่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ จึงยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมสถานการณ์

การจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือซึ่งเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งตามหลักการยุติความรุนแรงตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) นั้น คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขระบุว่า จะเปิดให้ภาคประชาสังคม หรือประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้ นับเป็นเรื่องที่น่าจะสนองตอบในประเด็นดังกล่าวได้ หากแต่ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องพร้อมให้กลุ่มเห็นต่างกลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการพูดคุยในเวทีปรึกษาหารือด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีการปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกของความขัดแย้งร่วมกันนั้น จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจ มีทัศนคติต่อคู่เจรจาอย่างกัลยาณมิตร และเปิดกว้างที่จะยอมรับเงื่อนไขความจำเป็นของคู่เจรจา ไม่ใช่ปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกที่สนองความต้องการของฝ่ายตนเป็นสำคัญ เพราะนั่นจะเป็นการต่อสู้ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะทางความคิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด

สำหรับประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมืองซึ่งเป็นสาระสำคัญสูงสุดตามหลักการยุติความรุนแรงตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ( JCPP) นั้น ดูเหมือนจะไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร ในขณะที่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายที่ยื่นเงื่อนไขของสาระในประเด็นทางออกทางการเมืองที่ชัดเจนกว่าฝ่ายรัฐ อาทิ การยอมรับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน การศึกษา ภาษา ระบบกฎหมาย ตลอดจนสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองเป็นต้น จนกระทั่งนักวิเคราะห์ความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศมาเลเซียท่านหนึ่ง กล่าวว่าบางทีการได้รับเอกราชหรือการปกครองตนเองอาจยังห่างไกล แต่อย่างน้อยพวกเขาได้เริ่มก้าวแรกเพื่อสิ่งนั้น นั่นคือสิ่งที่รัฐพึงตระหนักอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้ทางออกทางการเมืองนั้น เป็นทางเดินสู่สถานะการเมืองที่บรรลุความต้องการสูงสุดของฝ่ายบีอาร์เอ็น