การพักการลงโทษ หรือ การพักโทษ หมายถึง การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ ซึ่งเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษให้มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี มีอาชีพสุจริต และประพฤติตนเป็นพลเมืองดีภายหลังพ้นโทษ

มาตรการนี้ ถือเป็นประโยชน์ที่ให้นักโทษเด็ดขาดที่ประพฤติตนดี มีระเบียบวินัยระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ และจะพึงกระทำได้ เมื่อนักโทษเด็ดขาดนั้นได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี ในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ให้กำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ไม่เกินกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่

สำหรับเงื่อนไขการพักโทษ จะได้กำหนดเวลาให้ผู้ที่ได้รับพักการลงดโทษมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อได้ทราบความเคลื่อนไหวของนักโทษ ผู้ได้พักการลงโทษได้ตลอดเวลาที่พักการลงโทษอยู่ และจะต้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดหมั่นสอดส่องสังเกตพฤติการณ์และ ความประพฤติของผู้ที่ให้พักการลงโทษโดยสม่ำเสมอ และหากผู้ได้รับการพักโทษประพฤติผิดเงื่อนไข ก็อาจจะถูกจับกุมส่งเรือนจำได้ทันที

ช่วงระหว่างการคุมประพฤติ จะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ ตามที่กำหนดไว้หากว่าประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิมและจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย เงื่อนไข 8 ข้อ มีดังนี้  1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ตามที่ได้แจ้งไว้กับทางเรือนจำ  2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต  3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก  4. ประกอบอาชีพโดยสุจริต  5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา  6. ห้ามพกพาอาวุธ  7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ 8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

ถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัว ประพฤติตนตามเงื่อนไขด้วยดีตลอด ก็จะได้รับใบบริสุทธิ์และพ้นโทษไปตามคำพิพากษาเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป เอกสารมาประกอบการพิจารณาสืบเสาะข้อเท็จจริงก่อนปล่อยตัว

สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นหากครบกำหนดโทษจำคุกในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก็จะได้รับการปล่อยตัว แต่ระหว่างนั้นในเดือนเมษายนนี้จะมีความชัดเจน เกี่ยวกับคดีความผิดตามมาตรา 112 ว่าอัยการจะยืนสั่งฟ้องตามเดิมหรือไม่อย่างไร รวมทั้งคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือปปช.อีก 2 คดี