ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

ต่อจากตอนที่แล้วที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้านการคมนาคม

ในด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นจากการเกษตร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าอกเข้าใจต่อกันเป็นอย่างมาก เพราะฝุ่นส่วนใหญ่ที่มาจากภาคเกษตรนั้นมาจากการเผา ซึ่งการเผาในทางการเกษตรนั้น มีมิติที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การเก็บเกี่ยว วัฒนธรรม หรือแม้แต่รูปแบบในการทำการเกษตร ซึ่งการจะแก้ไขให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหลายเลิกเผาไปเลยก็เห็นทีจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กฎหมายบีบบังคับ ทำนองว่า ถ้าเผาโดนจับนะ อะไรเทือกนั้น เพราะเป็นการ “กดดัน” โดยไม่ได้ช่วยหา “ทางออก” ให้ประชาชนเลย

การเผาโดยส่วนมากเกิดขึ้นระหว่างและหลังเก็บเกี่ยว เช่น อ้อยและข้าวโพด เพื่อเหตุผลบางประการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอ้อย ที่ใบคม เป็นอุปสรรคต่อการใช้คนลุยเข้าไปตัด หรือการเผาซังข้าวโพดหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อที่จะเตรียมแปลงและทำการปลูกต่อในครอปต่อไป ถ้าไม่เผา การตัดอ้อยก็จะใช้เวลามาก ใช้คนมาก กลายเป็นต้นทุนทั้งด้านเวลาและราคา เช่นนี้ จะเห็นได้ว่าวิธีการเผาเป็นวิธีการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

หากเราต้องการจะลดการเผาเพื่อเหตุผลข้างต้น ก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เพื่อให้เกษตรกรยังคงได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ในขณะที่เปลี่ยนวิธีการจากการเผาไปเป็นอย่างอื่น เช่น การใช้เครื่องจักร รถตัดอ้อย หรืออื่นๆตามที่เหมาะสม ซึ่งปัญหาใหญ่คงไม่ใช่เรื่องของเครื่องจักร เพราะปัจจุบันมีขายอยู่ทั่วไป แต่ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องการหาซื้อมาใช้งาน ซึ่งในมิตินี้รัฐบาลอาจหาแนวทางในการช่วยประชาชน และจัดระบบให้ง่ายและสะดวกแก่ประชาชน ยกตัวอย่างเช่น อาจจัดให้มีหน่วยเครื่องจักร โดยร่วมมือกับอบต.ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้หยิบยืมไปใช้ เป็นบริการให้แก่ประชาชน เป็นคอนเซปเหมือนที่ในประเทศยุโรปหลายประเทศทำกัน ในขณะเดียวกันก็พูดคุยกับผู้รับซื้อว่าถ้าเกษตรกรไม่ใช้การเผาจะรับซื้อในราคาสูงกว่าได้หรือไม่ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผาลง ซึ่งปัจจุบันหลายที่ก็ทำอยู่

แต่การจะมุ่งเป้าที่เกษตรกรรายย่อยๆอย่างเดียวก็เห็นจะไม่ครอบคลุมปัญหา เพราะต้องอย่าลืมว่าเกษตรกรรมนั้นเป็นอาชีพที่ทำกันทั้ง “คนจน” และ “คนรวย” การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยก็เห็นจะต้องเป็นมาตรการที่ใช้ทั้งกับสองกลุ่ม ไม่ใช่บอกรายย่อยให้ใช้เครื่องจักร แต่รายใหญ่ยังคงเผาอยู่ ก็จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ งานนี้ก็ต้องอาศัยการเจรจาพูดคุยกันเช่นกัน ว่าบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่จะลดละเลิกการเผาได้มากน้อยเพียงไหน ซึ่งต้องรวมไปถึงการไปทำเกษตรกรรมในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะแม้จะเผานอกเขตประเทศไทย แต่ควันและฝุ่นก็ลอยข้ามเข้ามาได้อยู่ดี

การสนับสนุนให้ลดการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยลดฝุ่นได้ โดยเฉพาะการใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหมุนเวียน และการประยุกต์ใช้ศาสตร์เกษตรอินทรีย์

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะประเทศไทยที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก โดยเน้นปริมาณผลผลิตเพื่อที่จะส่งขายไปยังพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทที่มีคอนแทรกต์กัน การทำเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นต้องทำจำนวนมาก เน้นความรวดเร็ว มองวัชพืชเป็นศัตรู สิ่งที่ตามมาก็คือการแข่งขันกันในการผลิตเชิงปริมาณ ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด และต้องกำจัดวัชพืชด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เมื่อได้ผลผลิตก็ต้องรีบเก็บเกี่ยวเพื่อให้ทันขายท่ามกลางการแข่งขัน แถมยังต้องรีบเคลียร์แปลงเพื่อปลูกต่อไป สภาพเช่นนี้ ก็เป็นส่วนเสริมอีกด้านหนึ่งที่ทำให้การเผายังคงเป็นสิ่งที่สะดวกสบาย

แต่หากช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นการปลูกพืชผสมผสานภายในพื้นที่ของตน แบ่งพื้นที่เป็นแปลงเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เน้นการหมุนเวียนแปลงเพาะปลูกเพื่อบำรุงดิน วัชพืชต่างๆก็นำไปเป็นปุ๋ยตามแนวทางอินทรีย์ เช่นนี้ การเผาก็ไม่จำเป็น เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงหนึ่ง ก็หมุนเวียนไปปลูกในอีกแปลงหนึ่ง ในขณะที่ซากหรือซังต่างๆก็ใช้การไถกลบเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีลงไปได้อีก

แต่อย่างไรก็ดี แนวทางที่กล่าวไป อาจไม่สามารถแข่งขันได้ในเชิงปริมาณ แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือคุณภาพของสินค้าเกษตร ที่จะงามกว่า ปลอดภัยกว่า ซึ่งจุดนี้รัฐควรให้การช่วยเหลือในด้านการพัฒนาตลาด จากเดิมที่เรามีตลาดสำหรับ “ปริมาณ” ก็ควรส่งเสริมพัฒนาให้มีตลาดสำหรับ “คุณภาพ” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าเกษตรได้อีกด้วยเช่นกัน

ในส่วนของฝุ่นจากอุตสาหกรรมนั้น ต้องชื่นชมกันว่าวันนี้เราทำได้ดี โรงงานต่างๆมีมาตรฐานในระดับดี มีการตรวจสอบกันอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงไซต์ก่อสร้างต่างๆที่เริ่มเห็นมาป้ายวัดปริมาณฝุ่นแสดงให้เห็น ซึ่งอาจต่อยอดได้ด้วยการให้รางวัล ถ้าบริษัทไหนก่อสร้างแล้วเกิดฝุ่นน้อยที่สุด รัฐก็ให้รางวัลไปเป็นแรงจูงใจ จะเป็นอะไรก็สุดแท้แต่ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการร่วมมือร่วมใจ การจูงใจให้ร่วมมือกันจึงเป็นศิลปะที่มีประโยชน์อย่างมาก

พื้นที่สำหรับวันนี้หมดลงอีกแล้วครับ สัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเรื่องฝุ่น ผมจะมาเล่าให้อ่านกันในมิติของฝุ่นข้ามแดนครับ สำหรับวันนี้ลากันไปก่อนนะครับ