รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ถนอม อินทรกำเนิด ประธานอนุกรรมการ ก.พ.อ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา) งานวิชาการด้านรับใช้ท้องถิ่นและสังคม และนายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เล่าถึงเส้นทางการเดินของมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรกเริ่มของการมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกมาจนถึงการพัฒนาจนมีมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้ท้องถิ่นและสังคม และการขอตำแหน่งทางวิชาการด้านรับใช้ท้องถิ่นและสังคมนับว่าเป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 2 ศตวรรษ

จากจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยในยุโรปตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 10 พบว่า การเรียนรู้ระดับสูงที่ผู้เรียนจะเรียนอยู่ตามวิหาร (Cathedral) ไม่ใช่เรียนที่โบสถ์ (Church) วิชาที่เรียนแรกเริ่มประกอบด้วย 3 วิชา หรือไตรศาสตร์ (Trivium) ได้แก่ Grammar ที่ไม่ใช่ไวยากรณ์แต่คือ วิชาลาตินศึกษา (Latin Study) Logic หรือวิชาศิลปะการใช้เหตุผล และ Rhetoric หรือศิลปะการพูด ต่อมามีการเรียนเพิ่มอีก 4 วิชา หรือจตุรศิลปศาสตร์ (Quadrivium) ได้แก่ คณิตศาสตร์ (Arithmetic), เรขาคณิต (Geometry), ดนตรี (Music), ดาราศาสตร์ (Astronomy) เรียกว่า Seven Liberal Arts และต่อมาได้เพิ่มสาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมเรียกว่า Liberal Arts

ศตวรรษที่ 11 – ศตวรรษที่ 14  มีมหาวิทยาลัยแรก ๆ ที่ตั้งอยู่ยุโรปใต้ในประเทศอิตาลี คือ มหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna ค.ศ. 1088) และมหาวิทยาลัยซาเลอโน (University of Salerno ค.ศ. 1160) และมหาวิทยาลัยซาลามังก้า (University of Salamanca ค.ศ. 1218) อยู่ประเทศสเปน ผู้เรียนจะรวมตัวกันมาเรียนในรูปแบบ Union of Students เมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาเอก Doctor of ... ซึ่งไม่ใช่ปริญญาเอกแต่เท่ากับปริญญาตรี โดยศาสตร์ที่เรียนเน้น วิชาชีพ หรือ Professions

ขณะที่ทางยุโรปเหนือจะมีมหาวิทยาลัยแรก ๆ คือมหาวิทยาลัยปารีส (University of Paris ค.ศ. 1150) มหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเยร์ (University of Montpellier ค.ศ. 1160) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  (University of Oxford ค.ศ. 1167) มหาวิทยาลัย
เคมบริดจ์ (University of Cambridge ค.ศ. 1209) ผู้สอนจะรวมตัวกันเพื่อจัดการเรียนการสอนเป็น Faculty Organization เมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาตรี โดยศาสตร์ที่เรียนเน้น ศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts

ศตวรรษที่ 18  เกิด Research University หลังจากดำเนินการสอนอยู่ 722 ปี (ค.ศ. 1810-1088) มหาวิทยาลัยวิจัยก็เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี คือ Humboldt University หรือ University of Berlin  และมหาวิทยาลัย Humboldtian Model ก็ได้ขยายไปทั่วยุโรปและอเมริกา ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยจะเน้นการสอนและการวิจัย

โดยสรุปมหาวิทยาลัยในยุโรปจะเน้นการเรียนการสอนทางศิลปศาสตร์ก่อน แล้วจึงขยายมาเน้นด้านวิชาชีพ และการวิจัย ตามลำดับ  (Liberal Arts --> Professions --> Research) ส่วนจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยที่เน้นบริการสังคมนั้นมาจากทางฝั่งอเมริกา ใช้เวลานานถึง 226 ปี เรียกว่ามหาวิทยาลัยบริการสังคม (Extension) ที่เน้นการ Outreach บริการสังคมออกไปนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือการขยายบริการในเชิงรุกไปยังคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย คนที่ไม่เคยสนใจจะใช้บริการ หรือไม่มีโอกาสในการใช้บริการ

ก่อนจะเกิดแนวคิดมหาวิทยาลัยบริการสังคมฝั่งอเมริกาก็มีมหาวิทยาลัยที่เน้นจากการเรียนการสอนด้าน Liberal Arts ก่อนเหมือนกันกับฝั่งยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University ค.ศ.1636) College of William and Mary ค.ศ.1693 มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University ค.ศ. 1746) คิงคอลเลจ (King College ค.ศ.1754) หรือปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ซึ่งกว่าจะเพิ่มภารกิจด้านการวิจัยตาม Humboldtian Model ก็ต้องใช้เวลาอีก 174 ปี หรือหลังปี ค.ศ. 1810 ต่อมาใน ค.ศ. 1819 ฝั่งอเมริกาโดยมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ได้พัฒนามหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาชำนาญเฉพาะทาง หรือ Specialization (วิชาเอก-วิชาโท) และมีอีกหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็พัฒนาตาม สำหรับภารกิจของมหาวิทยาลัยเน้นการสอนและการวิจัยเช่นกัน

มหาวิทยาลัยบริการสังคมในฝั่งอเมริกามาจากนักการเมืองเป็นผู้ผลักดันที่เริ่มจาก Morrill Acts เมื่อปี ค.ศ. 1862 ที่ ส.ส. 1 คน จะต้องมอบที่ดิน 30,000 ไร่ เป็น Land Grant ให้กับมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย และรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องจัดสรรงบประมาณให้ ทำให้มหาวิทยาลัยบริการสังคมในอเมริกามีความเข้มแข็งมาก โดยโครงสร้างของมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมเกิดจากการรวมตัวของครูอาจารย์จากคณะ/วิชา “Cooperative Extension Office”

เมื่อพัฒนาการของมหาวิทยาลัยเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยรับใช้ท้องถิ่นและสังคม รูปแบบความเป็นวิชาการของมหาวิทยาลัยจึงครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การสอน (Teaching) การค้นพบ/การวิจัย (Discovery) การประยุกต์ (Application) และการบูรณาการศาสตร์ (Integration) ส่วนตำแหน่งทางวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสอน (Teaching Professor) การวิจัย (Research Professor) และการรับใช้ชุมชนและสังคม (Extension Professor)

ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแลและจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม 1 พัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่ม 2 พัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม กลุ่ม 3 พัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น กลุ่ม 4 พัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และกลุ่ม 5 ผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ส่งผลให้การ ขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคมจึงเกิดขึ้น (Academic Services to Local Community and Society)

แน่นอนว่า ... ผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคมเป็นผลงานทางวิชาการอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการให้กับอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและทุ่มเทในการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาท้องถิ่นและสังคม ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในท้องถิ่นและพื้นที่ของประเทศให้เจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนอีกด้วย