สถาพร ศรีสัจจัง

วาทกรรม “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เห็นอนาคต"นั้นนับเป็นวลีสำคัญที่นักปราชญ์ นักคิด หรือบุคคลสำคัญของโลกจำนวนมากแทบจะทุกยุคสมัยมักใช้เป็น “ข้อเสนอ” หรือ “คำแนะนำ” เพื่อเตือนสติผู้คนให้ใช้ชีวิตหรือ “คิดการ” ต่างๆแบบ “รอบด้านและรอบคอบ” เพื่อให้สามารถ “เห็น” และ เข้าใจทั้งด้านกว้าง-ด้านลึกของสิ่งที่จะต้อง “ทำ” เพื่อการบรรลุผลเชิงสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหวัง

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระผู้ทรงเป็นศาสดาของชาวพุทธ ก็ทรงตรัสสอน “วิธีวิทยาเชิงพุทธ” ทั้งหลายทั้งปวงที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยมรรคมีองค์ 8 หลักอิทัปปัจจยตาหรือหลักปฏิจจสมุปบาท…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสถึงความสำคัญของอดีต เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงที่มาที่ไปของความเป็นปัจจุบันอยู่โดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไปของ “สังคมไทย” ทั้งๆที่พระองค์ท่านทรงได้รับการศึกษามาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ !

นักต่อสู้การเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคมจำนวนมาก ตั้งแต่หัวเรือใหญ่ระดับโลกของ “ชาวพรรคคอมมิวนิสต์” คือ คาร์ล มาร์กซ์ จนถึงสาวกคนสำคัญอย่าง วี.ไอ.เลนินแห่งรัสเซีย

โดยเฉพาะท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้สามารถนำพาพลังมหาชนชาวจีนต่อสู้จนชนะ “อำนาจเก่า” จัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ใหม่ขึ้นได้ ทำให้ สามารถ “ปลดปล่อยประชาชน” จำนวนมหาศาลจากสังคมเก่า จนพัฒนามาเป็นประเทศจีนใหม่ปัจจุบันอย่างที่รู้ๆเห็นๆกันว่าก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในแทบทุกด้าน

ก็ฟังมาว่า เป็นเพราะท่านยึดกุมและให้ความสำคัญกับคาถา “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน เห็นอนาคต” อย่างแท้จริงและอย่างยึดกุมมาเป็นแนวปฏิบัติจริง อย่างที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ใน “สรรนิพนธ์” ในหลายหัวข้อหลายประเด็นนั่นไง

ได้ฟังคุณชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค “ก้าวไกล” คนใหม่ประกาศวาทกรรมดังกล่าวกับผู้สนับสนุนพรรคที่บางแคเมื่อหลายวันก่อนแล้ว ก็ให้สบายใจขึ้นมากทีเดียว

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง โอกาสที่พรรค “ก้าวไกล” ของท่านจะ “พลาด” อย่างพรรคการเมืองในอดีตทั้งหลาย(ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและพรรคปฏิวัตินอกกฎหมาย) ที่ชอบประกาศตัวว่า “ก้าวหน้า” และ “อยู่ข้างประชาชนคนชั้นเสียเปรียบทางสังคม” อย่างที่เคยเป็นมาก็น่าจะมีโอกาสน้อยลง!

เพราะเท่าที่เคยฟัง “ผู้รู้” ทั้งหลายเขาวิเคราะห์เชิงสรุปบทเรียนกันมา มักจะมีข้อสรุปว่า ความพ่ายแพ้หรือล้มเหลว ของบรรดาพรรค “ฝ่ายก้าวหน้า” ในอดีตเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะวิเคราะห์ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” หรือ “ปัจจัยความขัดแย้งภายใน” ของสังคมไทยผิดพลาด !

ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และ “จังหวะก้าว” ในการ “เคลื่อนไหวต่อสู้” ผิดพลาดไปหมด

ท้ายที่สุดก็ถูก “พลังสภาวธรรม” (พลังแห่งความสัมพันธ์และความขัดแย้งทางสังคมที่ดำรงอยู่จริงในเวลาและพื้นที่ของ "สิ่ง” หรือสังคมนั้นๆ) “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” จนต้องต้องล่มสลายแพ้ภัยตัวเองไปในท้ายที่สุด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย น่าเศร้า และน่าเสียใจยิ่ง!

ที่ว่าน่าเสียใจก็เพราะว่า กว่าขบวนของประชาชนหรือ “พรรคของประชาชน” (ที่แท้จริง) จะจัดตั้งเข้มแข็งขึ้นได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ต้องมี “กองหน้า” ซึ่งเป็นผู้มี “สติ-ปัญญา” และ มีจิตใจประเภท “กล้าต่อสู้กล้าเสียสละ” เกิดขึ้นก่อนเป็นจำนวนไม่น้อย

ตัวอย่างสำหรับการ “รู้อดีต” เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทยอันใกล้ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ไม่น้อย เป็นสิ่งที่พรรคซึ่งประกาศตัวว่าเป็น “ฝ่ายก้าวหน้า” หรือ “ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” ควรจะต้องศึกษาเรียนรู้วิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้งอย่างเป็น “วิทยาศาสตร์สังคม” เพื่อจะได้นำมา “เข้าใจปัจจุบัน” อย่างแท้จริง  อันจะทำให้สามารถ “เห็นอนาคต” ได้จริง !

เพราะนั่นย่อมจะทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี โดยเฉพาะ “จังหวะก้าว” ในการต่อสู้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับเงื่อนเหตุภววิสัยและพลังวิริยภาพเชิงอัตวิสัยอย่างแท้จริง!

ความอ่อนหัดของขบวน 14 ตุลาฯ (2516) ก็ตาม ความตายของนักสู้เมื่อ 6 ตุลาฯ(2519) ก็ตาม ความพ่ายแพ้จนถึงขั้นต้องล่มสลายอย่างไม่น่าจะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ตาม และฯลฯ หรือจะไม่ใช่บทเรียนสำคัญที่จะตอบคำถามได้ในบางระดับ ว่า การวิเคราะห์ “การดำรงอยู่และความขัดแย้งของกลุ่มพลังทางสังคม” ในสังคมไทยจนเห็นภาพที่แท้จริงนั้น มีความสำคัญอย่างไร?

อย่างน้อยก็ควรจะต้องสรุปให้รู้ชัดในระดับที่ “นักแข่ง” ควรจะ “ต้องรู้” ว่า ถ้าตัวเองเป็นนักแข่งรถ ในสนามที่ตัวเองลงแข่งอยู่นั่นมี “โค้งปราบเซียน” อยู่กี่โค้ง ซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง จะต้องระวังและจะจัดการกับโค้งดังกล่าว ด้วยวิธีใด  จึงจะไม่ต้องเจ็บตัวหรือต้องสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น!

“อดีต” ของสังคมหนึ่งๆนั้นก็เหมือนกับ “ราก” ของต้นไม้ชนิดหนึ่งๆ ล้วนมีลักษณะจำเพาะของตัวมัน เอง  เช่น ต้นทุเรียนย่อมจะต้องมีระบบรากที่แตกต่างกับต้นแอบเปิล แม้แต่ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองกับทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มาจากแหล่งอื่นก็ยังมีความแตกต่างกัน วิธีปลูกวิธีเลี้ยงดูให้เติบโต จึงต้องมีความแตกต่างอย่างจำเพาะอยู่บ้างในหลายเรื่อง แม้จะเป็นพืชที่มีลักษณะร่วม คือเป็น “ไม้ผล” เหมือนๆกันก็เถอะ!

สังคมไทยก็เช่นนั้น ย่อมแน่นอนว่ามี “เหตุ-ปัจจัย” ที่เป็น “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” หรือ “ความขัดแย้งภายในสังคม” ที่แตกต่างกับสังคมประเทศอื่นหรือ “รัฐชาติ” อื่นใด (แม้จะเป็น “รัฐชาติ” สมัยใหม่เหมือนๆกัน)

คือ ย่อมไม่เหมือนสังคมประเทศจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส คิวบา ชิลี แอฟริกา ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านแถบศูนย์สูตรด้วยกัน อย่างสิงคโปร์ หรือ บรูไน!

และที่สำคัญก็คือจะต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสังคมหนึ่งๆนั้น ไม่ใช่จะเพียงแต่ “ปลุกระดมความคิดทางการเมือง” ให้คนตื่นเต้นที่จะได้รับ “สิทธิ” ใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นแต่เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ ไม่ใช่ว่าเมื่อเข้าใจกฎ “เศรษฐกิจกำหนด” เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ถูกที่ควรก็คือ จะต้องเข้าใจด้วยว่า “ระบบคุณค่า” ของมหาชนคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นๆเป็นเช่นใดด้วย!

“ระบบคุณค่า” ที่ว่าก็คือ “โครงสร้างชั้นบนทางสังคม” ทั้งหมด ที่รวมเรียกว่า “วัฒนธรรม” นั่นแหละ (มีสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” คตินิยม “ขนบประเพณี” และ “จริยธรรม” เป็น “คีย์เวิร์ด” สำคัญอยู่ด้วย)  ดังนั้น ก็ควรต้องคิดทบทวนกันดูให้ดีอีกสักหน่อยก็แล้วกันนะ  ที่กล่าวว่า “รู้อดีต” นั่น รู้จริงๆหรือเพียงแต่คิดเอา-ว่ารู้? เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้ต้องเจอ “โค้งปราบเซียน” เหมือนกับที่คนรุ่นก่อนๆเขาพบเจอจนต้องเสียสละกันไปมากแล้วอีกเป็นแน่ละมั้ง!

การ “รู้อดีต” คือ “รู้วัฒนธรรม” (อย่างเป็นระบบตามแบบแผน “วิทยาศาสตร์สังคม”) ของสังคมนั้นนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก  เพราะ “ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้ามากกว่าคุณภาพของประชากรไปไม่ได้ และคุณภาพของประชากรมี”วัฒนธรรม “เป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลัง” วาทกรรมที่แสนเฉียบคมลุ่มลึกและเป็น “วิทยาศาสตร์” นี้ นำมาจากข้อสรุปจากการทำงานด้านวัฒนธรรมแบบ “อุทิศทั้งชีวิต” ของ อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (ศาสตราจารย์ระดับ 11) ชาวบ้านตะเครี๊ยะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ “คนระโนด” อำเภอเดียวกับคุณชัยธวัช  ตุลาธน หัวหน้า “พรรคก้าวไกล” คนใหม่คนนั้นนั่นแหละครับ!