การแก้ไขปัญหาผู้มีประวัติการเจ็บป่วยทางจิต ก่อเหตุรุนแรงในครอบครัว ในชุมชน หรือนอกพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะต้องรับผิดชอบเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน

โดยเฉพาะรัฐบาลเศรษฐา ต้องให้ความสำคัญผลักดันเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อป้องกันปัญหาเชิงรุก

ทั้งนี้ นพ.พงศ์เกษม  ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะผลักดันผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติ แต่มาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กัน คือ การเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกตพฤติกรรม เพราะแม้จะเป็นผู้ที่รับการรักษา กินยาอย่างต่อเนื่อง แต่หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยง อันได้แก่ ดื่มสุราและใช้สารเสพติด ทำให้อาการกำเริบได้ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จะร่วมกันเฝ้าระวังสามารถทำได้จากการสังเกตสัญญาณเตือนของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ได้แก่ 5 สัญญาณอันตราย คือ 

นอนไม่หลับ 

เดินไปมา 

พูดคนเดียว 

หงุดหงิดฉุนเฉียว 

หวาดระแวง 

ปี 2566 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สธ. ติดตามให้คำแนะนำการดำเนินงานระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ทุกจังหวัด ร่วมกับการขยายผลการจัดตั้งศูนย์คัดกรองครอบคลุมทุกตำบล จัดทำแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดอย่างไร้รอยต่อ บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน จัดฝึกอบรมระยะสั้นให้กับแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายทั้ง 13 เขตสุขภาพ

อีกด้านหนึ่งคือ นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา 

1.มีภาวะอันตราย 

2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา 

“มาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ หากประชาชนท่านใดพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323”

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องผลักดันสร้างเครือข่าย และสร้างแรงจูงใจให้ในการมีส่วนร่วมป็นหูเป็นตา สอดส่องพฤติกรรมของผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ทำดีต้องมีรางวัล จึงจะเกิดผลอย่างยั่งยืน