สถาพร ศรีสัจจัง

ดูเหมือน “สำนัก” สำคัญ (ในอดีต?) ที่มักผลิต “วาทกรรม” (Discourse) สำคัญๆทาง “กฎหมาย” จนกลายเป็น “อำนาจนำทางความเชื่อ” คือสามารถทำให้คำเหล่านั้นกลายเป็น “กระแส” จนกลายเป็นคำที่ “คุ้นชิน” หรือ “ติดปาก-ติดความรู้สึก” ของผู้คนวงกว้างในสังคมไทย น่าจะไม่มีสำนักไหนเกิน “สำนักธรรมศาสตร์” (และการเมือง) ที่เคยมี “มอตโต้” (Motto) เชิงชื่นชมองค์กรตัวเองทำนองว่า “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ… สำนักนั้น “ธรรมศาสตร์และการเมือง” !”

ที่จริงมอตโต้นี้มีที่มาจากเนื้อร้อง 2 วรรค ของเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคแรกๆ คือเพลงที่ชื่อ “มอญดูดาว” ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา(สง่า  กาญจนาคพันธุ์ )นำทำนอง “มอญดูดาว 2 ชั้น” มาแต่งเนื้อเพลงขึ้น ในช่วงหลังจากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นแล้วในปี พ.ศ.2477

จากการที่ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี  พนมยงค์ ปริญญาเอกทางกฎหมายจากฝรั่งเศส หัวขบวนของ “คณะราษฎร” (ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศไทยในปีพ.ศ 2475) ฝ่ายพลเรือน 

ภาพลักษณ์เบื้องแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(และการเมือง)จึงคือการมุ่งผลิตผู้มีความรู้ทางกฎหมายและการเมือง มาเป็นบุคลากรเพื่อการ “พัฒนา” ทางสังคมตามความมุ่งหวัง ทั้งในสายกฎหมายโดยตรง (ฝ่ายตุลาการ) ฝ่ายนิติบัญัติ (รัฐสภา&ออกกฎหมาย) และฝ่าย “การเมือง” (บริหาร/รวมถึงข้าราชการฝ่ายปกครองทั้งปวง)

“มอตโต้” หรือ “คำขวัญ” ที่เกี่ยวกับ “การเมือง” หรือ “กฎหมาย” ที่ได้รับการผลิตสร้างขึ้นจากกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพล(ศิษย์)ของสำนักนี้ซึ่งติดหูติดตา “คนมีการศึกษา” หรือคนที่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทาง “สังคม-การเมือง” มีทยอยออกมาอีกไม่น้อย ตามเหตุตามปัจจัยทางสังคมของแต่ละช่วงเวลา  

ที่โดดเด่นกินใจ และ “ปลุกเร้า” ความรู้สึกอย่างสูงยิ่งบทหนึ่ง ก็คือวาทกรรมที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

เท่าที่พยามสืบค้นดู ไม่พบว่าเป็น “วาทกรรม” ที่มีใครเป็นผู้เขียนหรือ “กล่าวขึ้นไว้โดยตรง แต่พอจะประมวลได้ว่า น่าจะเกิดเพราะการสรุปความบางส่วนจาก “บทความ” เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชิ้นเยี่ยมบทหนึ่ง ที่เขียนโดย “แม่ทัพแห่งวงวรรณกรรมไทยยุคใหม่” คือ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมที่ยิ่งใหญ่นาม “กุหลาบ  สายประดิษฐ์” ศิษย์เก่าคนสำคัญอีกคนของ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั่นเอง”

ผู้ที่สนใจวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยมักรู้จักคุณกุหลาบใน “นามแฝง” หรือ “นามปากกา” ที่ใช้ในการประพันธ์งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ คือ “ศรีบูรพา” จากวรรณกรรมอมตะอันทรงคุณค่าหลายเรื่อง เช่น “ข้างหลังภาพ”/ “แลไปข้างหน้า”/ “จนกว่าเราจะพบกันอีก”/ “ขอแรงหน่อยเถอะ”/ “ต่อตระกูลหมอ” และ “เนด เคลลี่ เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร” เป็นต้น

บทความชิ้นเยี่ยมของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ชิ้นดังกล่าวมีชื่อว่า “ดูนักศึกษา ม.ธ.ก.ด้วยแว่นขาว” โดยปรากฏตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2495 (หลังจากที่นักศึกษา และ ศิษย์เก่าม.ธ.ก.เดินขบวนไปยึดมหาวิทยาลัยคืนจากทหารได้สำเร็จ

บทความชิ้นดังกล่าวนี้ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เขียนขึ้นในช่วงหลังเกิด “กบฏแมนฮัตตั้น” ที่หลังปราบกบฏสำเร็จแล้ว  ทหารได้เข้ายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธะรมศาสตร์ไว้ (เพราะเป็นฐานสำคัญของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ “ผู้ประศาสน์การ” ของมหาวิทยาลัย? ซึ่งฝ่ายจอมพลป.พิบูลย์สงคราม รัฐบาลขณะนั้น เชื่อว่า คือผู้อยู่เบื้องหลัง “กบฏแมนฉัตตั้น”ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถคลิ้กเข้าไปหาอ่านรายละเอียดได้อย่างง่ายๆจาก “ปรมาจารย์ยุคออนไลน์” ที่ชื่อ “กูเกิ้ล”)

ส่วนที่ระบุว่างานชิ้นนี้เป็น “บทความชิ้นเยี่ยม” อย่างไรนั้นก็เช่นกัน คงต้องไปหาอ่านพิสูจน์กันเอาเองว่าทำไมถึง “เยี่ยม” ที่ไม่พูดถึงอย่างละเอียดเพราะมีคนพูดถึง อ้างถึงไว้มากแล้ว

อีกชิ้นที่น่าจะเป็นวาทกรรมซึ่งกินใจชาว “ลูกโดม” และ ใครๆอีกไม่น้อย ก็คือบทคำขวัญที่ว่า “ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ /ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พทักษ์ธรรม!”

ชิ้นนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าตัดมาจาก “วรรคทอง” ในบทกวีชื่อ “โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม” เขียนโดย นักศึกษา ม.ธ.ก.ผู้ “มีภาษาเป็นอาวุธ” หัวขบวนคนหนึ่งในการต่อสู้ยึดคืนมหาวิทยาลัยจากการยึดครองของทหาร นาม “เปลื้อง วรรณศรี” ผู้ใช้นามปากกา “นายสาง” ในยุคเดียวกับ “นายผี” หรือ “อัศนี พลจันทร์” ลูกธรรมศาสตร์ที่เป็น “นักต่อสูเพื่อสังคมจนตัวตาย” ที่สำคัญยิ่งอีกคน

ท่อน 4 วรรคสำคัญที่เป็นบทเต็มจากบทกลอนชื่อ “โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม” นั้น เปลื้อง วรรณศรี เขียนไว้ดังนี้

“…สิ่งเหล่านี้ที่โดมโหมจิตข้า/ให้แกร่งกล้าเดือนปีที่ไม่หวั่น/หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์/ก็ขาดสัญลัษณ์พิทักษ์ธรรม…”

หลายผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ชำนาญการด้านกวีนิพนธ์ มักบอกตรงกันว่า ที่คุณเปลื้องเขียนคือ “ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม” ส่วนที่กลายเป็น “…ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม” นั้น เป็นเพราะมีผู้มาเติมคำ “เหมือน” เข้าไปในภายหลัง คนที่รู้เรื่องฉันทลักษณ์ของ “กลอนสุภาพ” ส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วย เพราะคำ “เหมือน” ทำให้จังหวะรับสัมผัสของคำ “สัญ” เพี้ยนไปจนขาดน้ำหนักและความเไพเราะ (เขามักว่ากันมาอย่างนั้น)

ที่ดังมากๆอีกชิ้นก็คือ “วรรคทอง” จากกวีนิพนธ์ของ “นายผี” หรือ “อัศนี  พลจันทร์์ ท่อนหนึงที่ว่า”…ชั้นใดเขียนกฎหมาย/ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น…” (ต่อด้วยอีกหลายวรรคที่ว่า “เมื่อใดที่ชนกรร/มาชีพผองครองสังคม/กฎหมายก็จะหัน/รับใช้ชั้นผู้ตรอมตรม…"!)

และบทนี้เองละกระมัง ที่อาจจะเป็นที่มาของ “วาทกรรม” (discourse) ชิ้นสำคัญที่เกิดจาก “ศิษย์รุ่นหลัง” ของ “สำนักธรรมศาสตร์” แห่งนี้  นั่นคือ “วาทกรรม” ที่ “สุดฮอต” และ ใช้กันจนเกร่ออยู่ในหมู่ชนที่มักเรียกตัวเอง (หรือ “กลุ่ม”หรือ “พรรค” ของตัวเอง) ว่าคือ “นักต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเป็นธรรม” ยุคปัจจุบัน

วาททกรรมดังกล่าวก็คือ คำว่า “นิ ติ ส ง ค ร า ม”!!