ปัจจุบันหญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน ได้รับการศึกษาและการยอมรับ เราจึงได้เห็นผู้หญิงเติบโตในหน้าที่การงาน ก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีในบางประเทศ แม้ในบางแห่งบนโลกใบนี้ ยังคงมีอคติ และมีความเหลื่อมล้ำเรื่องของสิทธิต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและความรุนแรงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เช่น กรณีของสามีที่ทำร้ายภรรยาแล้วเผาอำพรางศพ  หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนไม่รู้จัก หรือกระทั่งคนในครอบครัว

ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ยังคงเกิดขึ้น

ข้อมูลในปี 2565  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากสื่อต่างๆ พบว่ามีรายงานข่าวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 373 ถึง 3 เท่า ส่วนเหตุการณ์ ปี 2563 มี 593 เหตุการณ์ ปี 2561 มี 623 เหตุการณ์ และ ปี 2559 มี 466 เหตุการณ์

โดยลักษณะที่พบมากสุดในปี 2565 คือ ฆ่ากัน 534 เหตุการณ์ คิดเป็น 47.2% ทำร้ายกัน 323 เหตุการณ์ คิดเป็น 28.6% ฆ่าตัวตาย 155 เหตุการณ์ คิดเป็น 13.7% ความรุนแรงทางเพศ 64 เหตุการณ์ คิดเป็น 5.6%  และความรุนแรงในครอบครัว 55 เหตุการณ์ คิดเป็น 4.9%           

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จากการรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ และข่าวจากสื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 มีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 92 ข่าว คิดเป็น 24.7% และยาเสพติด 64 ข่าว โดยเฉพาะการฆ่ากันตายในครอบครัวมีถึง 195 ข่าว คิดเป็น 52.4% ทำร้ายกัน 82 ข่าว คิดเป็น 22% และฆ่าตัวตาย 52 ข่าว คิดเป็น 14% โดยความสัมพันธ์แบบสามีฆ่าภรรยาสูงสุด 57 ข่าว คิดเป็น 63.4% สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวงว่าภรรยานอกใจ 45 ข่าว คิดเป็น 60% ง้อไม่สำเร็จ 11 ข่าว คิดเป็น14.7% วิธีการที่ใช้มากสุดคือปืนยิง 34 ข่าว คิดเป็น 43% ใช้มีดหรือของมีคม 27 ข่าว คิดเป็น 34.2% และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 7 ข่าว คิดเป็น 8.8% 

ที่น่าห่วงคือความสัมพันธ์แบบแฟน ซึ่งฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง 27 ข่าว คิดเป็น 65.9% ซึ่งผู้ถูกกระทำจำนวนมากไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้โดยเฉพาะคู่รักนักศึกษา หรือวัยทำงาน ที่ไม่ได้บอกความสัมพันธ์ให้ครอบครัวรับรู้ คิดว่าครอบครัวจะไม่เข้าใจ หรือมองปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่

และเนื่องในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสตรีไทยสากล” ที่ผู้หญิงทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลอง เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเท่าเทียม

จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของสตรี ที่สำคัญคือร่วมกันยุติความรุนแรงต่อสตรี ไม่เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อสตรี และไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณที่อาจจะเกิดความรุนแรงนั้น