ปัจจุบันต้องยอมรับว่ากระแสโซเชียล นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายปัญหาของสังคมไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่แม้จะไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่ก็ “กลัวกล้อง” ส่งผลดีต่อการสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น

แต่ ในอีกทางหนึ่งก็ยังคงมีวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริต  วัฒนธรรมดังกล่าวนั้น มีผู้ที่อธิบายเอาไว้เข้าใจง่ายฉายภาพเอาไว้ชัดเจน โดย ดร. มานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เขียนบทความในเพจส่วนตัว เรื่อง“10 วัฒนธรรมเป็นพิษ”(Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา”  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จึงขออนุญาตตัดความบางช่วงบางตอนมานำเสนอ ดังนี้

“10 วัฒนธรรมเป็นพิษ” (Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา  

1. ‘ยกย่องคนรวย’ คนมีอำนาจ อิทธิพล กราบไหว้ยกย่องแม้รู้ว่าเขามีชื่อเสียง ร่ำรวย มีตำแหน่งใหญ่โตได้เพราะคดโกง เอารัดเอาเปรียบสังคม เช่น ส.ว. รายหนึ่งอุปถัมภ์กิ๊ก อีกรายหนึ่งพัวพันเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ 2. ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ คนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน ผู้ใหญ่ฝากมา คนสีเดียวกัน เมื่อมีปัญหาถูกผิดต้องดูแลกัน ทำให้คนโกงมากมายหลุดคดีหรือคดีล่าช้า 3. ‘เกรงใจ’ แม้รู้ว่าผิดก็หยวนยอมกัน ปล่อยให้ทำหรืออนุมัติเรื่องให้ กลัวเขาหาว่าไร้น้ำใจ แทนที่จะตรงไปตรงมากับเรื่องของส่วนรวม สุดท้ายคือผิดทั้งคนขอและคนชอบเกรงใจ 

4. ‘อ้างความลับราชการ’ ความมั่นคงของชาติ แม้กระทั่งเรื่องที่แอบไปเซ็นต์สัญญากับเอกชนทั้งที่ใช้เงินภาษีประชาชนไปจ้างไปซื้อของเขา 5. ‘งานใครงานมัน’ แต่ละหน่วยงานมีกฎหมาย อำนาจ บทบาท เป้าหมายและผลงานที่ต้องทำ มีสายบังคับบัญชาที่แยกจากกัน ทำให้ต่างคนต่างอยู่ รับรู้ต่างกัน เมื่อมีปัญหาจึงโยนเรื่องกันไปมา สุดท้ายอำนาจและผลประโยชน์แอบแฝงของใครบางคนจึงอยู่เหนือเป้าหมายเพื่อส่วนรวม

6. ‘สักแต่ว่าทำ’ ใครให้ทำอะไรก็ทำ รางวัลก็ได้ มีครบหมดตามนโยบายและ KPI ฟังดูน่าจะดี แต่ไม่รู้ว่าทำต่อเนื่อง ทำทั่วถึงไหม ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ชวนให้คิดไปว่าหลายหน่วยงานแค่ทำเอาหน้าเอาผลงาน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองคงเจริญไปไกลกว่านี้ 7. ‘แถ’ ด้วยคำพูดดูเท่ห์เพราะไม่มีเหตุผลดีพออธิบายได้ โดยไม่ยี่หระว่าใครจะเชื่อหรือไม่ 8. ‘ถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน’ เพียงอ้างแค่นี้แล้วเชิดหน้าสบายใจ ทั้งที่รู้ว่าเบื้องหลังวางแผนชั่วกันมา เหมือนบอกชาวบ้านว่า ‘จับไม่ได้ แปลว่าไม่โกง’

9. ‘ใช้ดุลยพินิจพร่ำเพรื่อ’ ของเจ้าหน้าที่เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้มากมาย โดยไม่มีกฎกติกากำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจนว่า อะไรทำได้แค่ไหน เงื่อนไขอย่างไร อะไรต้องห้าม คนมีอำนาจจึงฉวยโอกาส

และ 10. ‘คนผิดลอยนวล’ แม้ใช้เงินใช้อำนาจผิดๆ จนบ้านเมืองเสียหายก็ไม่มีใครต้องรับผิด ทั้งโกงกิน ซื้อของแพง ใช้งานไม่ได้ ใช้ไม่คุ้มค่า”

ตัวอย่างวัฒนธรรมเหล่านี้เอง ที่เราเห็นว่าไม่เพียงเป็นปัจจัยซ้ำเติมการคอร์รัปชั่น หากแต่วัฒนธรรมบางอย่าง ยังกลายเป็น “ต้นตอ”ของปัญหาคอร์รัปชั่นด้วย  ดังนั้น นอกจากการปราบปรามอย่างจริงจัง ไม่มีสองมาตรฐานแล้ว การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือร่วมใจกันบ่มเพาะวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ตระหนัก และกระตุ้น อย่างมีแบบแผนเป็นรูปธรรม จะช่วยส่งเสริมให้การป้องกันการคอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น