สถาพร ศรีสัจจัง

จากวาทกรรม “ชั้นใดเขียนกฎหมาย/ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” จนถึงวาทกรรม “นิติสงคราม” นับว่ามีระยะห่างในการ “ผลิตสร้าง” ระหว่างกันอยู่ไม่น้อย  และแม้วาทกรรมทั้ง 2 บทจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “กฎหมาย” แต่ทั้ง “เจตนา” และเป้าหมายเกี่ยวกับ “จุดมุ่งที่ต้องการบรรลุผล” ในการใช้ดูจะค่อนข้างแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

วาทกรรม “ชั้นใดเขียนกฎหมาย/ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น” เป็นวาทกรรมที่มุ่งนำเสนอ “หลักการ” ให้เห็นว่า “ชนชั้น” หรือ “กลุ่มคน” พวกที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ย่อมจะต้องออกมาเพื่อผลประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ “ชนชั้น” หรือกลุ่มชนที่ตนเองสังกัด ซึ่งแน่นอนว่าผลที่มักเกิดตามมาก็คือ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมทางสังคมต่อชนชั้นหรือกลุ่มชนอื่นๆในด้านใดด้านหนึ่งอย่างแน่นอน

ส่วนวาทกรรม “นิติสงคราม” เป็น “คำ” หรือ “wording” ที่มีความหมายประมาณว่า คือ “การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการทำสงครามแทนอาวุธ” หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งใครหรือฝ่ายไหนก็สามารถทำได้ (คือใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการทำ “สงคราม” เพื่อทำลายหรือเอาชนะอีกฝ่าย (ที่แน่ละคงต้องมีความขัดแย้งในด้านใดด้านหนึ่งกับตนหรือฝ่ายตน)

ก่อนที่คำ “นิติสงคราม” จะร้อนแรงขึ้นในสังคมไทย มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มที่เรียกกันว่า “นักวิชาการทางกฎหมายรุ่นใหม่” ในช่วงปี พ.ศ.2555 ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” คนที่โดดเด่นมากในกลุ่มนี้คือศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(กรุณาหาดูรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของ ดร.วรเจตน์ฯ และ “กลุ่มนิติราษฎร์” กันเอาเอง)

เกือบสิบปีต่อมา หลังจากที่ “กลุ่มนิติราษฎร์” (ที่มีดร.วรเจตน์ เป็นแกนนำสำคัญอยู่ด้วยคนหนึ่ง) เปิดอภิปรายแถลงข่าวเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาในประเด็นที่กี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ความผิดเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมที่มีเจตนาดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ (จุดมุ่งหลักอยู่ที่มาตรา 112) คำ “นิติสงคราม” ค่อยๆร้อนแรงขึ้น หลังจากมีการยุบพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่คือพรรค “อนาคตใหม่” ที่มีรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ดอกเตอร์ทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส อดีตอาจารย์จากสำนักเดียวกับศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ คือ ม.ธรรมศาสตร์เป็นแกนนำสำคัญรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแต่ก่อเกิด(โดยเหล้าเก่าและเหล้าใหม่ในขวดคุณภาพเดิม)พรรคใหม่ขึ้นรองรับกลุ่มพลพรรคเดิมอย่างรวดเร็ว ในนาม “พรรคก้าวไกล”

และแล้วผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดของประเทศไทย(14 พฤษภาคม 2566) พรรคใหม่ที่เพิ่งเกิดไม่นานนักนาม “ก้าวไกล” ที่มีหัวหน้าพรรคนาม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หนุ่มนักเรียนนอกรูปหล่อพ่อรวย ที่เพิ่งเด่นดังเป็น “ดาวสภา” แบบพลุแตกจากการอภิปรายครั้งสำคัญในรัฐสภา (ในนามสส.ลูกพรรคอนาคตใหม่)มาหมาดๆ ก็กลายเป็น “ม้า(ไม่)มืด” ชนะการเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกเป็นเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ชนะ “ม้าเต็งหนึ่ง” จากคอก “ชินวัตร” คือพรรคเพื่อไทยไปแบบ “ล็อกถล่ม”!

ครั้งนั้น คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศตัวแสดงตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ ไทยในทันที มีการเปิดโผ “ว่าที่รัฐมนตรี” คนสำคัญๆจนที่เป็นรู้จักในหมู่ประชาชนคนไทยกันไปแทบจะถ้วนหน้า โดยเฉพาะ “ว่าที่รัฐมนตรีคลัง คนสวยรวยความเก่ง” อย่าง “คุณไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล

แต่หลังจากฮือฮาจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่ยกใหญ่ “นายกฯพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”  กับคณะรัฐมนตรีในฝันก็กลายเป็น “นายกฯทิพย์” และ “รัฐมนตรีทิพย์” ไปในทันที เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” พรรคที่สมาชิกได้รับเลือกมากเป็นลำดับ 2 ได้สลัดพันธสัญญาเกียรติยศที่ทำไว้กับพรรค “ก้าวไกล” ตั้งแต่วันแรกที่ผลการเลือกตั้ง ทำตัวเป็น “เสือข้ามห้วย” กระโจนข้ามฟากไปร่วมสังฆกรรมกับ “ฝ่ายอักษะ” ที่พรรคเพื่อไทยเองเคยเรียกว่าเป็น “พวกเผด็จการ” และ “พวกนั่งร้านเผด็จการ” อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และ พรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ของ “นายกลุงตู่” ในทันที

ปล่อยให้พรรคที่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” ในฐานะ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” อย่างพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งก่อนต้องกลายเป็น “โดดเดี่ยวผู้น่ารัก” อย่างไม่สนใจใยดี!

และหลังเหตุการณ์นี้ผ่านไปนั่นเอง ที่คำ “นิติสงคราม” วาทกรรมซึ่งเริ่มกระหึ่มมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 จากฝีปากและภูมิปัญญาอันลุ่มลึกเฉียบคมของ “แกนนำทางจิตวิญญาณ” มือกฎหมายคนสำคัญที่สุดของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งถูกยุบพรรคไปเมื่อไม่นาน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ดังกระจายไปทั่ววงสังคมการเมืองไทยอย่างรวดเร็ว

คนที่เป็นคอการเมืองและติดตามการเคลื่อนไหวของดร.ปิยบุตร ย่อมทราบกันดีว่า ท่านทั้งพูดและ “โพสต์” เรื่องนี้อยู่เนืองๆ(อย่างมีจังหวะก้าว?)โดยเริ่มมาตั้งแต่การ บัญญัติศัพท์คำ “นิติสงคราม” มาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.2562 โน่นแล้ว…

“บทโพสต์” ในเฟซบุ๊กบทหนึ่งของท่านที่มีขื่อหัวข้อว่า “2 กลไกของนิติสงคราม” บอกถึงเรื่องที่มาของคำ “นิติสงคราม” ไว้อย่างนี้…

“…ปลายปี 2562 ผมได้นำเสนอคำ Lawfare และ คิดคำไทยใช้แทนที่ว่า “นิติสงคราม” และเห็นว่าสถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้แปรเปลี่ยน “ตุลาการภิวัตน์” ให้เป็น “นิติสงคราม” เต็มรูปแบบแล้ว

“นิติสงคราม” หรือ “Lawfare” เป็นการเล่นกับคำว่า “Warfare” ที่แปลว่าการสงคราม แทนที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็เปลี่ยนมาใช้กฎหมายมาทำสงครามแทน

ดังนั้น “นิติสงคราม” จึงหมายถึง การกำจัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม ที่ต่อต้านรัฐหรือรัฐบาล โดยใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

ในการบัญญัติศัพท์คำ “Lawfare” ว่า “นิติสงคราม” ครั้งนี้ ต้องสังเกตให้ดีว่า ท่านอาจารย์ปิยบุตรหมายถึงการที่ “ฝ่ายรัฐ” หรือ “รัฐบาล” เป็นผู้ใช้ “กฎหมาย” หรือ “กระบวนการยุติธรรม” มา “กำจัด” ฝ่ายที่ดร.ปิยบุตรเรียกว่า “…ศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านรัฐหรือรัฐบาล” เท่านั้น ไม่กินความรวมถึงการที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐหรือรัฐบาล(นั้นๆ)จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายรัฐหรือรัฐบาล ด้วยนะเอออย่าลืม!!!