ร้อนแล้ง น้ำท่วม วงจรภัยพิบัติที่กลายเป็นวัฏจักร แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ความแปรปรวนของธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร การลงทุน กระทบเศรษฐกิจ ปากท้อง

กระนั้นก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ก่อนว่าคือ อะไร

“เอลนีโญ”เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

โดยปรากฏการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้เกิดสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ เกิดความแห้งแล้ง ในพื้นที่ที่เคยมีฝนตกชุก อาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน

ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2567 เอลนีโญอาจรุนแรงขึ้นและลากยาวถึงมีนาคม 2567 เป็นอย่างน้อย จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ดันมูลค่าความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลักและปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายคงมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่นอย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน

นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ความเสียหายของข้าวคงมีสูง เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2558 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย

“สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ คงต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่สูง และอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย คงได้รับผลกระทบดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้น การเร่งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ นับว่ามีความจำเป็น”

ดังนั้น ไม่ใช่แค่นโยบายดึงดูดการลงทุน หรือธุรกิจที่รักษาสิ่งแวดล้อม ตาม BCG โมเดลเท่านั้น แต่เราต้องเร่งปลูกป่า แม้บ้านเรานั้นมีผู้ปลูกไม้ขุดล้อม ส่งออกจำนวนมาก หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการเนรมิตร “ป่าโตไว” อาจต้องลงทุน หรือหาแนวทางพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน ระดมรับมืออย่างจริงจัง เช่น ซาอุดิอาราเบียเขียวไม่เช่นนั้น จะไม่ทันการณ์ ขอเชียร์ให้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศนโยบาย “ไทยเขียว”