ล่าสุด มีข้อมูลเรื่องปัญหาบุหรี่ จากคนทำงานด้านนี้อย่างอย่างยาวนาน 40 กว่าปี อย่าง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวตอนหนึ่งหลังได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 รางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหิดล ยกย่องให้เป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่น เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติทั้งในประเทศและระดับนานาชาติว่า

“บุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมาตลอด ​แม้จะมีการรณรงค์ต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี ทำให้แนวโน้มผู้สูบบุหรี่ลดลงจากที่เคยมีชายไทยสูบบุหรี่  60% เหลือ 34% แม้จำนวนผู้สูบจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีคนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองถึง 7 หมื่นคนต่อปี มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่ราว 1.2 ล้านคน แม้ว่าผู้สูบจะทราบดีว่า บุหรี่มีพิษภัย แต่ด้วยฤทธิ์นิโคตินทำให้เลิกได้ยาก อีกทั้งกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามเพิ่มนักสูบ ก็ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการขึ้นภาษี ควบคุมการลักลอบนำเข้า แต่ความไม่พร้อมในการควบคุมยาสูบของไทยยังมีอีกหลายด้าน ทำให้ต้องป้องกันด้วยการห้ามขาย ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2557

ปัจจุบันกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเขียนไว้ครอบคลุม แต่ยังเกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งผู้ผลิตยังพยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาล่อหลอกนักสูบหน้าใหม่ บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นสิ่งที่ระบาดในกลุ่มเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เสพติดนิโคตินจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ในฐานะผู้มีบทบาทด้านสุขภาพ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน ที่ยังเข้าใจผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีหลักฐานปรากฏ​มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วย สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ ฯลฯ ในคนที่อายุน้อยได้” ​

ขณะที่มีข้อมูลที่น่ากังวลจาก ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก ซึ่งธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อที่มุ่งเป้าเด็ก โดยผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่เป็นตัวการ์ตูนและกล่องนม ทำให้เข้าถึงเด็กอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ล่าสุดพบ ผู้สูบเป็นเด็ก ป.2 อายุน้อยเพียง 7 ขวบ ซึ่งพบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน (EVALI) และปอดแตก จำนวน 2-3 ราย ทำให้เครือข่ายผู้ปกครองและครูมีความกังวลเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 พบว่า 91.5% สนับสนุนให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และ 93% เห็นว่าควรเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งขายหน้าร้านและออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ในความพยายามปกป้องลูกหลานของเรานั้น กลับยังมีบางฝ่ายที่พยายามหาช่องทางเพื่อปลดล็อกทางด้านกฎหมาย และทำตัวเป็นศรีธนญชัย ไม่จบไม่สิ้น