รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

อากาศร้อนมากขึ้นทุกวัน ยิ่งใกล้เดือนเมษายนอุณหภูมิความร้อนก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีกจนทะลุปรอทระดับ 40 องศากว่า การเมืองไทยก็เช่นกันช่วงนี้ดีกรีความร้อนสูงขึ้นไม่แพ้อากาศที่ร้อนเลย โดยเฉพาะยิ่งจะใกล้เข้าเดือนพฤษภาคมต้องมีการคัดเลือกวุฒิสมาชิก (สว.)  สว. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ 200 คน ทดแทน สว.เก่า 250 คน ที่จะทำหน้าที่ครบวาระห้าปี ซึ่งสว.ชุดเก่านี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 การเมืองคงจะ “fight” ประลองกำลังกันไม่เบาและลากยาวไปถึงปลายปีที่จะต้องมีการเลือกตั้ง อบจ. อีกด้วย

หันเหจากเรื่องร้อน ๆ ทั้งกายและใจสักครู่ มาส่องที่มาและชิมขนมหวานอร่อย ๆ ดับร้อนระดับตำนานแห่งเยาวราชกันบ้างดีกว่า ด้วยเป็นของกินดังที่หาพลาดลิ้มลองไม่ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก หรือรุ่นจิ๋ว ขนมอร่อย ๆ นี้ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง เส้นจึงใส เหนียวนุ่ม เมื่อกินกับน้ำกะทิสด น้ำเชื่อม น้ำแข็งป่น และขนุนสุกหั่นเป็นชิ้นยาว รสชาติจึงหอม หวาน เย็น ชื่นใจ เวลาเคี้ยวก็ให้เนื้อสัมผัสแบบหนึบ ๆ หนับ ๆ อร่อยลิ้น ไม่ใช่เล่นครับ  

ใช่แล้ว ขนมหวานที่ว่ามานี้ก็ คือ “ลอดช่องสิงคโปร์” !!! นั่นเอง

หลายคนอาจเคยเข้าใจผิดคิดว่าลอดช่องสิงคโปร์คงมีต้นกำเนิดมาจากประเทศสิงคโปร์ แต่จริง ๆ แล้วนั้น ลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรกมีต้นกำเนิดมาจาก ร้านสิงคโปร์โภชนา บนถนนเจริญกรุง ใกล้สามแยกหมอมี ตรงข้ามธนาคาร UOB สาขาสามแยก สัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ในอดีตร้านนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ “โรงหนังสิงคโปร์” หรือต่อมาถูกรื้อทิ้งสร้างใหม่เป็น “โรงหนังเฉลิมบุรี” ลูกค้าที่มากินจึงพากันเรียกว่า "ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์" พอเรียกกันไปนาน ๆ เข้าก็เพี้ยนสั้นลง คำว่า "หน้าโรงหนัง" หายไป เหลือเพียงคำติดปากเป็น "ลอดช่องสิงคโปร์"

เจ้าของร้าน "ลอดช่องสิงคโปร์" คนปัจจุบันเคยเล่าไว้เมื่อ 6-7 ปีก่อนไว้ใน winnews.tv ว่า ร้านนี้เป็นธุรกิจของพ่อเปิดบริการขายมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 ก็ขายมาประมาณราว ๆ 60 กว่าปีมาแล้ว โดยสูตรลอดช่องสิงคโปร์นี้เป็นสูตรที่เพื่อนพ่อถ่ายทอดให้มาอีกทีหนึ่ง ทุกวันนี้ร้านยังเปิดขายอยู่ตามปกติทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดี แต่ย้ายจากจุดเดิมที่เป็นโลเกชั่นในตำนานถัดไปอีกประมาณ 70 เมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เนื่องจากมีการทุบตึกทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นอาคารพาณิชย์ทันสมัย

สำหรับกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าของร้านให้กลับมากินซ้ำใหม่ ประกอบด้วยการคงคุณภาพของวัตถุดิบ โดยเฉพาะการนำตัวกะทิแบบเข้มข้น เพื่อให้ได้ความหอม มัน และเป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนเส้นลอดช่องต้องทำให้เหนียวนุ่ม โดยสีของตัวลอดช่องใช้สีเขียวของใบเตยผสมกับสีผสมอาหารเพื่อให้สีดูสวยและสดใส ส่วนน้ำเชื่อมก็จะทำให้ไม่หวานจัดพร้อมกับใส่เนื้อขนุนลงไปด้วย ซึ่งนอกจากคนไทยจะนิยมกินลอดช่องสิงคโปร์แล้ว คนชาติอื่น ๆ ก็ชอบเช่นกัน อาทิ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น

จากลอดช่องสิงคโปร์ ยังมีชื่อขนมอื่น ๆ ที่ชื่อเป็น “เทศ” แต่เป็นของไทย เช่น ขนมโตเกียว ดัดแปลงมาจากขนม โดรายากิของญี่ปุ่น ขนมโมจินครสวรรค์ ที่แนวคิดมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องอิคคิวซัง กล้วยแขก รับเอามาจากวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนอินเดียที่ใช้วิธีการทอดเป็นหลัก ขณะที่คนไทยใช้การต้ม ปิ้ง และย่างเป็นหลัก คุกกี้สิงคโปร์ แรกทำต้องใช้แป้งที่นำเข้าจากสิงคโปร์ เป็นต้น

ย้อนกลับมาที่ลอดช่องไทย พบว่าลอดช่องไทยเป็นขนมพื้นบ้านที่ใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบต่างจากลอดช่องสิงคโปร์ที่ใช้แป้งมันสำปะหลัง ลอดช่องไทยเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียและมาเลเซีย เรียกว่า เจ็นดล (Cendol) ซึ่งหมายถึงเยลลี่ที่มีรูปร่างคล้ายตัวหนอน

ส่วนตามหลักฐานของไทยเชื่อกันว่า ลอดช่องไทยเป็นขนมโบราณที่สมัยหนึ่งเคยถูกเรียกว่า นกปล่อย จากจารึกที่เกี่ยวข้องสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2215-2220) ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบร่มเย็น ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวผู้หญิงก็จะมีการทำของหวาน 4 อย่าง ที่เรียกว่าประเพณี 4 ถ้วย ไว้รับประทาน ได้แก่ ไข่กบหรือเมล็ดแมงลัก นกปล่อยหรือลอดช่อง บัวลอยหรือข้าวตอก และอ้ายตื้อหรือข้าวเหนียว

ปัจจุบันลอดช่องเป็นขนมหวานที่นิยมกินกันทุกตรอกซอกซอย และมีขายอยู่ทั่วไปทั้งในห้าง ศูนย์อาหาร ข้างถนน รถเข็น และที่อื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีสูตรเฉพาะที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ลอดช่องจึงนับว่าเป็นขนมหวานที่
คนหลากหลายเชื้อชาติโดยเฉพาะในเอเชียอาคเนย์กินเหมือนกันหรือมีวัฒนธรรมการกินร่วมกัน

ร้อน ๆ แบบนี้ ลอดช่องสิงคโปร์ หรือ ลอดช่องไทย สักถ้วย ดับร้อนกันดีกว่าครับ...