สถานการณ์การเมืองในช่วงเดือนมีนาคม เขม็งเกลียวขึ้น จากการขยับเล่นเกมเร็ว รุกไล่พรรคก้าวไกลทลายกระดานเลือกตั้ง ล้มล้างพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ย่อยสลายให้สิ้นสภาพ หรือลดขนาดเป็นพรรคขนาดเล็ก  “ตัดตอน” สูตรพันธมิตร “เพื่อไทย+ก้าวไกล”

ขณะที่หลายฝ่ายปริวิตก ความอึมครึมนี้ จะนำไปสู่การรัฐประหารอีกระลอกหรือไม่

กระนั้นหากย้อนกลับไป 32 ปีก่อน สถานการณ์เดือนมีนาคม ก็เขม็งเกลียวเช่นกันและเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์

บันทึกไว้โดย สภาบันพระปกเกล้าว่า ในวันที่ 22 มีนาคม 2535นั้น เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 16 ดังจะขอหยิบยกมาเผยแพร่ต่อดังนี้

“วันที่ 22 มีนาคม 2535 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 16 ของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งขณะที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เพราะเป็นการเลือกตั้งในขณะที่คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยังมีอำนาจแต่ก็เป็นการเลือกตั้งหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534

การจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่ผู้คนคาดหวังให้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นงานที่ท้าทายมาก ตอนนั้นก็มีเสียงพูดกันเรื่องซื้อเสียงและอาจมีการใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยพรรคการเมืองบางพรรค โดยทั่วไปการจัดการเลือกตั้งก็ยังอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย แต่นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ก็ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ที่รู้จักกันดีในชื่อที่ไม่เป็นทางการว่า “องค์กรกลาง” โดยมี ศาสตราจารย์ เกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมาเป็นประธาน ระดมนักวิชาการ และผู้คนในองค์กรภาคเอกชนมาร่วมกันทำงาน ติดตามดูแลการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดและรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องตามดูความไม่ชอบในการเลือกตั้งในที่ต่างๆ มากเป็นประวัติการณ์

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่เชื่อกันว่าทางทหารให้การสนับสนุนได้จำนวนผู้แทนราษฎรเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 79 ที่นั่ง พรรคชาติไทย ได้ 74 ที่นั่ง และพรรคความหวังใหม่ได้ 72 ที่นั่ง ที่เหลือก็เป็นของพรรคการเมืองอื่น ๆ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ จึงน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลายเป็นว่าพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเป็นรัฐบาลได้เลือกให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกมาเป็นนายกรัฐมนตรี อันทำให้มีการประท้วงทางการเมืองต่อมาตลอดเวลาที่พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 45 วัน

นายอานันท์ ปันยารชุน จึงพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพร้อมความชื่นชมของประชาชนว่าจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ดี แม้จะไม่เรียบร้อยหรือกำจัดการซื้อเสียงได้ทั้งหมด แต่คนก็เชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถและอำนาจหน้าที่ของท่านแล้ว (เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=22_%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%...)