เราคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา เป็นคำถามปลายเปิดที่อาจได้คำตอบที่หลากหลาย แต่หากนำเอากรอบของอำนาจหน้าที่มากำกับ ก็พอจะได้คำตอบที่ตรงกันอยู่บ้าง ด้วยหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภานั้นมีหน้าที่อยู่ 3 ประการด้วยกัน

พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ 

ให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศารัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

กระนั้น เราคาดหวังว่าให้วุฒิสภาในอนาคตนั้น ทำหน้าที่โดยอิสระ และตรงไปตรงมา โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ในทุกๆหน้าที่ที่พวกเขาได้รับ

ที่สำคัญคือ ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง แม้จะเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ยากยิ่งก็ตาม โดยเฉพาะ “ฝ่ายแค้น” ที่คาดกันว่า เวทีของวุฒิสภานั้นจะเป็นเวทีที่จะเอาคืน “ฝ่ายอำนาจเก่า”

เนื่องจากที่มาของวุฒิสภาชุดใหม่นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว

สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม จาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 200 คน 

ซึ่งมาจาก 20 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน4.กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9

11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน14.กลุ่มสตรี15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน20.กลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลของหลายฝ่ายว่าจะมีการบล็อกโหวต สว. เนื่องจากเปิดช่องให้สามารถเกณฑ์คนลงสมัครเพื่อไปเลือกกันเองได้ กระทั่งหวั่นเกรงว่าบางกลุ่มบางพวก จะมองเห็นโอกาสยึดอำนาจสว.ชุดใหม่ ที่ถึงวันนั้นก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 112 แต่แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่ ที่คือความกังวลของหลายฝ่าย ที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น