สถาพร ศรีสัจจัง

มี “วาทกรรม” (discouse)อยู่  2 วาทกรรม ที่มักจะ “วาบ” ขึ้นในความรู้สึกเสมอๆ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะบางภาวะ ที่รู้สึกอึดอัดจากความ “อยากให้เราเป็น” แบบอื่น (ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบที่น่าจะไม่ใช่เรา)  วาทกรรมแรกที่มัก “วาบ” จี๊ดขึ้นมาก็คือ “มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้อื่นได้อย่างไร!” และ วาทกรรมที่ 2 ที่มักรู้สึกตามถัดมา ก็คือ “ปีกที่ไม่อาจมอบแก่กันได้”!

วาทกรรมทีjแสนจะเฉียบคม ลึกซึ้งถึงแก่นสภาวธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ และเปี่ยมเต็มไปด้วย “กลิ่นอายและสีสันเชิงกวี” (Poetic sense) ทั้ง 2 วาทกรรมดังกล่าว  เป็นของ กวี ศิลปิน นักคิด และนักต่อสู้ทางจิตวิญญาณต่างยุคต่างสมัยคนสำคัญ 2 คน

วาทกรรมแรก เป็นของ “เสรีชนตัวจริง” (เท่าที่พอจะหาคำมาเรียกแทนค่าคนชนิดนี้ได้)คนหนึ่ง ที่ชื่อ “วีระศักดิ์  ยอดระบำ” กวี นักคิดนักเขียน และ นักต่อสู้ทางจิตวิญญาณร่วมสมัย ผู้วายชนม์ตามลูกสาวคนสวย ดี และเก่งวัย 3 ขวบผู้โด่งดังจากทีวีช่อง “คนค้นฅน” เมื่อหลายปีก่อน นาม “น้องต้นข้าว” หรือเด็กหญิง “ต้นฝน ยอดระบำ” ไปแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน ณ ไร่แห่งจิตวิญญาณของเขา(เกษตรกรรมธรรมชาติแท้) แห่งผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด (ตาก-แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่) ริมเวิ้งน้ำแม่เงาแห่งนั้น

วีระศักดิ์  ยอดระบำ เป็นใคร?

ในคืนวันของ “สังคมที่มีความทรงจำสั้น”/ “สังคมของคนลืมเร็ว” / “สังคมรากขาด” หรือ “สังคมของคนหลงคลั่งระบบ” เงินเป็นใหญ่ กำไรสูงสุด ฯลฯ(แล้วแต่ใครจะหาคำมาเรียก)อย่างสังคมไทยวันนี้ ชื่อของเขาอาจจะไม่เป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำในวงกว้างมากนัก

แต่ในแวดวงของผู้มีรสนิยมเชิง “กวี” หรือในหมู่ผู้คนที่มีจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้แสวงหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่สามารถกู้คืนความเป็น “มนุษย์” จากค่านิยมของสังคมทุนนิยมปัจจุบันกลับคืนให้แก่ตนเองนั้น ย่อมแจ่มใจและประจักษ์ในความคงค่าแห่งนามนี้ ในฐานะของคนที่เชื่อว่า “มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้อื่นได้อย่างไร?”!

ในความทรงจำที่คล้ายเลื่อนๆลอยๆไปมากแล้ว(ของข้าพเจ้า) อาจจะด้วยวันวัยที่เคลื่อนผ่านนานขึ้น จำได้แบบคลับคล้ายคลับคลาว่า “วีระศักดิ์ ยอดระบำ” นั้นเดินทางจากนครศรีธรรมราชเข้ากรุงไปเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหลังเกิดเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในปี พ.ศ.2516 ที่เรียกกันติดปากสืบๆมาว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” (อันยิ่งใหญ่)หมาดๆ

แน่ละปักษ์ใต้บางใครที่มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวกับ “โนรา” (นาฏลักษณ์ปักษ์ใต้ที่บัดนี้กลายเป็น “มรดกโลก” ไปเรียบร้อยแล้ว) เมื่อพลันเห็นนามสกุล “ยอดระบำ” ของเขา ก็อาจเกิดความคิดนัยประหวัดถึงนาม “โนรามดลิ้น(มดริ้น)  ยอดระบำ” หนึ่งศิลปินโนราชื่อก้องในตำนาแห่งเมืองร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

แน่ละต้องเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน  เพราะ “โนรามดลิ้น” คือผู้ได้รับพระราชทานามสกุล “ยอดระบำ” จากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งได้มีโอกาสรำโนราถวาย ณ เบื้องพระพักตร์ !

ตามประวัติของโนรามดลิ้น ยอดระบำ ที่อาจารย์วิเชียร  ณ นคร อดีตอาจารย์อาวุโสแห่งวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ปราชญ์ด้านคติชนวิทยาร่วมสมัยคนสำคัญ(มิตรสนิททางพุทธิปัญญากับท่านศาสตราจารย์ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาแห่งเมืองสงขลา)ได้ศึกษารวบรวมไว้อย่างค่อนข้างละเอียดนั้น บอกเราว่า

โนรามดลิ้น  ยอดระบำ เป็นชาวอำเภอร่อนพิบูลย์ จังวัดนครศรีธรรมราช เป็นโนราที่เคยรำถวายเเบื้องพระพักตร์ของสมเด็จพระปิยมหาราช ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6  ร่วมรุ่น ร่วมอาจารย์ และร่วมคณะกับ “โนราใหญ่” คนสำคัญร่วมสมัยอีกท่านหนึ่งแห่งเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งกระนั้น คือ “โนราคล้าย ขี้หนอน” ผู้ได้รับพระราชทานราชทินนามในภายหลังว่า “หมื่นระบำบรรเลง”  (คำ “ขี้หนอน” ในภาษาถิ่นใต้ก็คือคำ “กินนร” ในภาษาถิ่นภาคกลางนั่นเอง นามและนามสกุลจริง ของ “โนราใหญ่” ท่านนี้คือ “คล้าย  พรหมเมศ”)

ทั้งบุคลิกทางกายภาพ และ จิตวิญญาณ วีระศักดิ์  ยอดระบำ นับว่าเป็น “คนใต้แท้” คนหนึ่ง ที่แน่ๆก็คือได้รับสายเลือดความเป็น “ศิลปิน” จากศิลปินต้นตระกูลอย่าง “โนรามดลิ้น ยอดระบำ” อย่างเป็นที่ประจักษ์ จากงานวรรณศิลป์ทั้งหลายทั้งปวงที่เขาปฏิบัติอย่างเป็นสรณะสำคัญประการหนึ่งของชีวิตมาโดยตลอด!

วีระศักดิ์  ยอดระบำ ตื่นตัวทางความคิดด้านสังคม การเมืองช่วงหลังเหตุการ์ 14 ตุลาฯ เป็นอย่างสูง เขาไปทำค่ายอาสาฯชาวเขา อยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และ ภายหลังได้ตัดสินใจเป็นครูสอนหนังสือเด็กชาวเขาอยู่แถบอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมยุคร่วมสมัยกับ “ศิลปินหนุ่มจากพะเยา” ท่านหนึ่ง คือ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของหนังสือ “หุบเขาแสงตะวัน” และ “ขอความรักบ้างได้ไหม” อันโด่งดังแห่งยุคสมัยนั่นเอง

วีระศักดิ์ ยอดระบำ ตัดสินใจ “เข้าป่าจับอาวุธ” สู้รบรัฐบาลร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังเกิดเหตุการณ์ “ล้อมฆ่านักเรียน นักศึกษากลางเมือง” ที่เรียกกันว่า “เหตุหฤโหด 6 ตุลาฯ (2519) ฟังมาว่า ชื่อจัดตั้งเพื่อการณ์นี้ของเขาคือ “สหายสันติ” (สะท้อนด้านลึกของความใฝ่ทางจิตใจ)

หลังออกจากป่า นอกจากจะมุ่งใช้ชีวิตแบบ'เกษตรทางเลือกแล้ว เขายังเขียนหนังสือ ทั้งที่เป็น บทกวี เรื่องเล่าร้อยแก้ว ปกิณกคดี ฯลฯ ด้วย  เนื้อหาของเรื่องที่เขียน ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายข้อมูล ความรู้ และจินตภาพจากประสบการณ์ตรง ในการผนวกชีวิตของตนอยู่ร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่ามาอย่างยาวนาน

โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่าปะกาเกอะญอ จนเขาเองแทบจะกลืนกลายวิถีชีวิตและกระบวนทัศน์ในการคิดเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องชาติพันธุ์ดังกล่าวอย่างลุ่มลึก ดังที่มิตรสหายส่วนหนึ่งรู้จักเขาในชื่อแบบปะกาเกอะญอว่า “พะเลอโดะ” นั่นเอง

ผลงานเขียนที่โดดเด่นของวีระศักดิ์ส่วนหนึ่งปรากฏในนามปากกา “คืน ญางเดิม”

วีระศักดิ์ ยอดระบำ มีผลงานด้านวรรณศิลป์ที่ปรากฏเป็นรูปเล่มหนังสือแล้วไม่น้อย ทั้งที่เป็นรวมบทกวีร้อยแก้ว(prose poem)  บทสนทนาและสัมภาษณ์(เช่นเรื่องของปราชญ์และกวีปะกาเกอะญอนาม “พ้อ เล ป่า” เป็นต้น) และฯลฯ

วรรณกรรมที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชิ้นเอก” ของเขา(ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับกว้างขวางพอควร) ก็คือหนังสือรวมบทกวี 2เล่ม เล่มแรกชื่อ “นกเถื่อนเท่านั้น ที่รู้ว่าฤดูใบไม้ผลิยังจะมา” และอีกเล่มได้แก่ “เมล็ดเล็กๆมีต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างใน” เล่มที่ชื่อ “นกเถื่อนเท่านั้นที่รู้ว่าฤดูใบไม้ผลิยังจะมา” นั้น ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการฯให้เป็น 1 ใน 61 เล่ม ของ “หนังสือรวมบทกวีดีเด่นแห่งรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9”

“ยอด” หรือ วีระศักดิ์  ยอดระบำ ได้ล้มป่วยจากอาการติดเชื้อที่บาดแผลบริเวณเท้า อันเกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ก่อนจะเสียชีวิตลงในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าวันที่ 12 มีนาคม 2561 ร่างของเขาได้รับการฝังไว้ใต้ต้นแดงโบราณริมน้ำแม่เงา เคียงคู่กับลูกสาวตัวน้อยวัย 3 ขวบ คือ “น้องต้นข้าว” แห่ง “คน ค้น ฅน” คนนั้น  ตามคำสั่งเสียก่อนตายของเจ้าตัวอย่างเรียบง่ายที่สุด ท่ามกลางมิตรสหายผู้เดินทางไปร่วมการส่งร่างของเขาคืนสู่ธรรมชาติจำนวนหนึ่ง

ผ่าน 12 มีนาคม อีกปีหนึ่งแล้ว วีระศักดิ์  ยอดระบำ จากโลกนี้ไป 5 ปีแล้ว แต่วาทกรรมอันลุ่มลึกเฉียบคมและทรงพลังของเขาที่ว่า “มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้อื่นได้อย่างไร?” ยิ่งคล้ายยังคงก้องดังตอกย้ำอยู่ในสำนึก

และเราเชื่ออย่างที่ “ยอด” วีระศักดิ์  ยอดระบำ ยืนยันความเชื่อของเขามาโดยตลอดเช่นกัน คือเชื่อว่า “นกเถื่อนเท่านั้นที่รู้ว่าฤดูใบไม้ผลิยังจะมา” !!!