กางเกงช้างจากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ปัญหาใหญ่กว่ากางเกงช้าง คือไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากเป็นประวัติการณ์ โดยปี 2566 ขาดดุลสูงสุดถึง -36,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) เผยแพร่รายงาน ระบุว่าแนวโน้มไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทย

โดยสินค้าสำคัญที่ขาดดุลการค้ากับจีน คือ สินค้าสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้า คือ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ร้อยละ 33.8 รองลงมาคือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้ร้อยละ 14.7 รวมถึงสินค้าประเภทรถยนต์ร้อยละ 7.5

ขณะที่ สินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีน คือ ผลไม้สด ร้อยละ 35.8 รองลงมาคือ ยางพารา ร้อยละ 23.4 และไม้ร้อยละ 7.8

ศูนย์วิจิยกสิกรไทย ระบุว่าการขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์เร่งตัวขึ้น เมื่อเทียบโครงสร้างสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนในปี 2560 กับ 2566 พบว่าไทยขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์กับจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ของสินค้าไทยทั้งหมดที่ขาดดุลกับจีน โดยสัดส่วนที่ขาดดุลมาจากรถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก ร้อยละ 60.3 และส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ ร้อยละ 27.2 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทรถยนต์จากจีนเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย และยังมีแนวโน้มที่จะขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากการที่บริษัทเหล่านี้มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนด้วยเช่นกัน

ผลไม้เป็นสินค้าที่ไทยเกินดุลกับจีนเป็นอันดับที่หนึ่งแทนที่ยางพารา เนื่องจากความต้องการที่ลดลง ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนเองปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น  โดยสินค้าที่ไทยเกินดุลกับจีนเป็นอันดับที่ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 37 ส่วนใหญ่คือทุเรียน ที่ร้อยละ 14 แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีการปลูกและพัฒนามากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการค้าไทยกับจีน การขาดดุลการค้ากับจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจาก

1. สินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนเป็นสินค้ามูลค่าสูง มีการใช้เทคโนโลยีการผลิต ขณะที่สินค้าที่ไทยเกินดุลเป็นสินค้าเกษตรจำพวกผลไม้ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันเริ่มสูง

2. สินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต และสินค้าจากจีนได้รับข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งกำลังมีการทบทวนข้อยกเว้น

3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขั้นกลางที่เคยส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงบริษัทในจีนได้มีการออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแนวโน้มการขาดดุลการค้ากับจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยในภาพใหญ่ที่ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างหน้า เช่นเวียดนามที่มีอุตสาหกรรมการผลิต semiconductor ดังนั้น หากไทยยังไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้านอกจากจะมีแนวโน้มเติบโตต่ำลง การเกินดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงจะเป็นตัวลดทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอีกด้วย

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย รัฐบาลเศรษฐา เพราะแม้เราจะได้ประโยชน์ในแง่การลงทุน ที่เข้ามาทั้งด้านแรงวานและการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำกับและรักษากุลในการนำเข้าสินค้า