ทวี สุรฤทธิกุล

บางคนมองว่าการเมืองแบบ “ทักษิณชักรอก เศรษฐาออกหน้า” คงไปได้อีกไม่นาน บางทีอาจจะต้องยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ ก็เลยอยากพูดถึงการเลือกตั้งในครั้งใหม่ที่อาจจะ “ใกล้” มาถึงนี้

เริ่มต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเมืองของประเทศไทยไม่ได้ตรงไปตรงมาอะไรเท่าใดนัก ดังนั้นการเลือกตั้งในแต่ละครั้งจึงมีปัญหามาก โดยเฉพาะการทุจริตในการเลือกตั้ง ที่มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยที่กฎหมายเลือกตั้งก็พยายามที่จะไล่ตามไปแก้ไข แบบ “วัวหายล้อมคอก” ซึ่งนักเลือกตั้งก็พยายามหาวิธีเอาชนะโดยไม่เคารพหรือเกรงกลัวกฎหมายเหล่านั้นแต่อย่างใด รวมถึง “หุ่นไล่กา” อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่อยู่ในสายตาของนักเลือกตั้งทั้งหลายนั้น

ผู้เขียนอายุครบ 20 ปีใน พ.ศ. 2522 อันเป็นปีที่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เกิดขึ้น และเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน ภายหลังที่มีการรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 สืบต่อจากการปฏิวัติของนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงอาจจะเรียกได้ว่าผู้เขียนได้เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศ “การเมืองใหม่” ที่เข้มข้น นั่นก็คือยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” แม้ว่าจะเหี่ยวเฉาไปในเวลาอันรวดเร็ว เพราะภายหลังการเลือกตั้งในปี 2522 นั้นเอง ทหารก็กลับมาครองเมืองอีกครั้ง ตามกลไกที่ปูวางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 นั้น ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ที่พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ขึ้นมา ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น โดยเฉพาะการให้อำนาจวุฒิสภามีอำนาจพอ ๆ กันกับสภาผู้แทนราษฎร อย่างที่เราได้เห็นว่า ส.ว.สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และควบคุมตรวจสอบรัฐบาลได้ นอกเหนือจากการเป็นฐานอำนาจค้ำจุนเสถียรภาพให้รัฐบาล และคอยถ่วงดุลไม่ให้สภาผู้แทนราษฎร “เหิมเกริม” หรือเป็นใหญ่อยู่ตามลำพัง พูดอีกนัยหนึ่งตามทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ของท่านอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่บอกว่าคนในชนบทตั้งรัฐบาล แต่คนในเมืองล้มรัฐบาล ผู้เขียนก็ขอเรียกการเมืองไทยในลักษณะนี้ว่า “สองศักดินาประชาธิปไตย” คือนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง “ตั้งและค้ำจุน” รัฐบาล ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง “ก่อกวนและล้ม” รัฐบาล

เพื่อให้เห็นว่าการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 อาจจะมีอันเป็นไปคล้าย ๆ กันกับการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ 2521 ผู้เขียนก็จะขอเท้าความย้อนไปอธิบายถึงการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 นั้นสักเล็กน้อย โดยเฉพาะการล่มสลายของขบวนการประชาธิปไตย ที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 และ 2519 แต่แล้วก็ถูกทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยม “ปลุกระดม” ว่าประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เป็น “ปากประชาธิปไตยในร่างคอมมิวนิสต์” หรือสังคมนิยมจำแลง ที่กำลังจะเข้ามาทำลายล้างระบอบอันเป็นที่ “เคารพหวงแหน” ของคนไทย

ผู้เขียนไปเปิดดูกูเกิล พบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เกิด พ.ศ. 2521 2522 และ 2523 เรียงกันไปตามลำดับ แสดงว่าในช่วง พ.ศ. 2516 - 2519 คนทั้งสามนี้ยังไม่เกิด จนคนเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่นที่น่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. 2537 - 2538 ซึ่งคนทั้งสามนี้ขึ้นเรียนชันมัธยม อันเป็นช่วงอายุที่ค้นพบว่าเป็นวัยของผู้ที่กำลังเริ่มมีความสนใจทางการเมือง แต่กระนั้นกว่าคนทั้งสามจะมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกก็คงใน พ.ศ. 2539 (สำหรับนายธนาธร) และใน พ.ศ. 2543 (เลือก ส.ว.)กับ 2544 (เลือก ส.ส.) สำหรับนายปิยะบุตรกับนายพิธา อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การแสดงความคิดเห็นในทางสาธารณะ คนทั้งสามนี้ก็เพิ่งจะมีข่าวว่าได้แสดงความเห็นต่าง ๆ ในทางการเมือง ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หรือเพิ่งจะผ่านมาได้เพียง 10 ปี และที่เด่นชัดมาก ๆ ก็คือการที่คนทั้งสามนี้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อันเป็นจุดสูงสุดของ “ผู้กระทำการทางการเมือง” คือมีประสบการณ์ตรงด้วยการลงเลือกตั้งนี้เพียง 5 ปีเท่านั้น ซึ่งแม้ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคของคนทั้งสามจะได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงยังไม่อาจจะเรียกได้ว่ามีประสบการณ์ในทางการเมืองอย่างครบถ้วน นั่นก็คือยังไม่ได้อำนาจรัฐหรือผ่านงานด้านการบริหารประเทศ

แต่ที่สำคัญที่สุดอันถือได้ว่าเป็น “จุดอ่อนที่ร้ายแรงที่สุด” ในประสบการณ์ทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ก็คือ การที่ยังไม่ได้ผ่านประสบการณ์ของความผิดหวังและโดนปราบปรามอย่างหนักและ “ถอนรากถอนโคน” แบบที่กลุ่มคนหัวก้าวหน้าในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ต้องเผชิญ ดังที่ได้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ยัง “หลับตา” ที่จะเดินเอาหัวชนกับเผด็จการทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยนี้อย่าง “ไม่โงหัว”

บทความนี้ชื่อว่า “เลือกตั้งยุคใหม่ผ่านบทเรียนในอดีต” ก็เพราะทราบว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ บางส่วนก็ “ขาดรากเหง้า” และหลายส่วนก็ “ไม่สนใจรากเหง้า” นั่นก็คือการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับอดีต โดยมีการสั่งสอนกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า อดีตถูกเขียนด้วยคนในรัฐราชการ ที่ถูกครอบงำด้วยสังคมศักดินา และการเมืองการปกครองแบบเผด็จการ ดังนั้นอดีตหรือประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องที่เชิดชูหรือชื่นชมคนในระบอบเก่าเหล่านั้นทั้งสิ้น “ไม่มีค่าที่คนรุ่นใหม่จะไปสนใจใยดี”

ผู้เขียนยอมรับว่าตนเองเติบโตมาในสังคมแบบเก่า และทำงานมากับผู้นำในสายอนุรักษ์ คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะเอามานำเสนอคือสิ่งที่เรียกว่า “ไอเดียก้าวหน้า” อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เคยให้สติกับคนในยุค 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่จะถูกทหารมายึดเอาประเทศไทยคืนไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตลอดจนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยถ่วงดุลอำนาจกับทหารในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วง พ.ศ. 2523 - 2531 จนกระทั่งช่วงก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2538 อันเป็นช่วงของการเมืองไทยภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ที่บ้านเมืองวุ่นวายมาก โดยที่คนรุ่นใหม่และผู้นำของคนกลุ่มนี้ยังไม่เคยมีหรือได้พบประสบการณ์ “ที่ร้ายแรง” ต่าง ๆ ดังกล่าว

แนวทางทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้สำนวนไทยว่า “อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า” และบทกลอนที่ว่า “ปรารถนาใดใดในปถพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง” ซึ่งจะทำให้ทั้งสังคมไทยนี้ไปรอดและน่าอยู่ ทั้งนี้เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่เคยเห็นด้วยกับแนวทางของลัทธิบางลัทธิ ที่จะต้อง “โค่นล้ม - ล้มล้าง - ล้มเลิก - ถอนรากถอนโคน” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “ใช้ไม่ได้” และ “เป็นไปไม่ได้” สำหรับคนไทยและสังคมไทย

แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่เอาไว้แก้ปัญหาของประเทศ แต่ยังใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงและเอาชนะเลือกตั้งได้อีกด้วย