เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

เรื่องผีปอบยังเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ล่าสุดเหตุเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดอุดรธานี ที่มีการร่ำลือว่าผีปอบอาละวาด มีคนเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุติดต่อกัน 4 คน จนทำให้ชาวบ้านตื่นตระหนก และเชื่อว่าปอบเข้าสิงบุคคลหนึ่งในหมู่บ้าน

จึงได้มีการทำบุญบ้าน นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาทำพิธีปัดเป่าสิ่งไม่ดีภูตผีปีศาจและปอบให้ออกจากบ้าน ทำหลักบ้านไปปัก 4 ทิศรอบหมู่บ้าน และหว่านข้าวสารเสกรอบหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านสบายใจขึ้น

มีเรื่องราวข่าวผีปอบทีไรให้คิดถึงคุณหมอสงัน สุวรรณเลิศ อดีตผู้อำนวการโรงพยาบาลศรีธัญญา ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านได้ศึกษาวิจัยเรื่องผีปอบที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ “ผีปอบ” งานวิจัยที่ท่านไปนำเสนอในการประชุมนานาชาติที่ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

คุณหมอสงันเป็นคนมหาสารคาม ในหนังสือเรื่องผีปอบ ท่านศึกษาคนที่ “ถูกผีปอบเข้าสิง” 50 คน เป็นหญิง 48 คน ชาย 2 คน ขอยกตัวอย่าง 1 กรณี ที่หญิงสาวคนหนึ่งกลับจากทำงานที่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมบ้าน พ่อเสียชีวิตหลายปีก่อนนั้น แม่แต่งงานใหม่

เมื่อพ่อเลี้ยงกินเหล้าเมาก็ตบตีแม่ น้องคนนี้ก็จะ “ผีเข้า” เป็น “พ่อ” ของตนที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว มีสุ้มเสียงและพฤติกรรมเหมือนพ่อทุกอย่าง ร้องเสียงดังว่า “มึงตีเมียกู กูจะฆ่ามึง” พ่อเลี้ยงก็แทบจะหายเมา กราบขอขมา สัญญาว่าจะไม่ทำอีก แต่มื่อเหล้าเข้าปาก ก็จะตบตีแม่อีก น้องคนนี้ก็ผีเข้าอีก

คุณหมอสงันไม่เชื่อเรื่องผีปอบ แต่ก็ไม่ได้ว่าชาวบ้าน ท่านใช้วิชาจิตแพทย์ในการรักษาสิ่งที่ท่านเรียกว่าอาการทางจิตที่ทำให้ “ตัวตนแตกกระจาย” (fragmented identity) และรับเอาบุคลิกของผู้อื่น “ปลอมตัว” เป็นคนคนนั้น (impersonation) อันเกิดจาก “บาดแผลทางใจ” (trauma) ที่มาจากความขัดแย้งรุนแรงทางจิต

ความจริง เรื่องผีปอบ ผีสิง ผีเข้า มีทุกวัฒนธรรมแม้ในประเทศพัฒนาแล้ว เพียงแต่อาจน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนา อย่างปรากฏการณ์ลงองค์ ทรงเจ้า ที่คนทรงบางคนรับเอาบุคลิกของ “เจ้า” หรือ “เทพ” หรือบุคคลสำคัญในอดีต สามารถพูดหรือบอกอะไรที่ทำให้ใครๆ เชื่อว่าเป็น “ตัวแทน” หรือ “นอมินี” จริง

วิทยาศาสตร์ตามประเพณียังไม่มีคำอธิบายโดยตรงเรื่องปรากฏการณ์ผีปอบและการลงองค์ทรงเจ้าเข้าผี แต่ก็มีความพยายามศึกษาและอธิบายเรื่องเหล่านี้ หรือสามารถโยงมาใช้เพื่อเข้าใจก็น่าจะทำได้

ลองใช้แนวคิดของคาร์ล กุสตาฟ จุง นักจิตวิทยาชาวสวิส ผู้พิสมัยปรัชญาและวัฒนธรรมตะวันออก และนำไปประยุกต์ใช้ในจิตวิเคราะห์ จุงเชื่อในเรื่องของจิตไร้สำนึกซึ่งสะสมมาแต่อดีต (collective unconscious) หรือ ประสบการณ์จิตไร้สำนึก (personal unconscious) ที่เกิดจาก “ตัวแบบ” (archetype) จากประเพณี วิถีวัฒนธรรม ตำนาน สัญลักษณ์ พิธีกรรม ความเชื่อที่ส่งผลต่อพลังทางจิต ความกล้า ความกลัว ความสัมพันธ์ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่บางครั้งเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึก ที่เราไม่รู้ตัว

อีกแนวคิดหนึ่งของจุงที่อาจจะนำมาประกอบการศึกษาเรื่องผีปอบ คือ “ความบังเอิญ” (synchronicity) ที่จุงไม่ได้ถือว่า “บังเอิญ”  ที่คนทั่วไปเรียกเช่นนี้เพราะอธิบายตามเหตุและผลไม่ได้  จึงถือว่าเป็นอะไรที่เกิดจากที่ฟิสิกส์ควันตัมเรียกว่า “สนามรวมพลัง” (unified field) ซึ่งมีคำอธิบายที่ซับซ้อน แต่ก็ทำให้เห็นว่า แนวคิดทางจิตวิทยาของจุงใกล้เคียงกับทฤษฎีควันตัมยุคใหม่

คำอธิบายเหล่านี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์กระแสหลัก ซึ่ง “รอการพิสูจน์” ตามหลักหรือตรรกะของตน ขณะที่ชีวิตความเป็นจริงมีตรรกะอีกแบบ ไม่ได้มี 3 มิติ แต่มีมิติที่ 4 สัมผัสที่ 6 ที่ปรจิตวิทยา (parapsychology) ศึกษามานาน แต่วิชาการทั่วไปยังไม่ยอมรับ ยังจัดอยู่ใน “กึ่งไสยศาสตร์” (semi-occultism) ด้วยซ้ำ

คำอธิบายของคาร์ล จุงและควันตัมฟิสิกส์ยุคใหม่ใกล้เคียงกับปรัชญาตะวันออกที่มองเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว จน “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว” อย่างน้อยก็มีควันตัมฟิสิกส์ที่ช่วยเบิกทางให้วิทยาศาสตร์ และมีคาร์ล จุง นำทางให้จิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาบุคคลด้วยใจกว้างในการพิจารณาปรากฏการณ์ทางจิตต่างๆ อย่างกรณีผีปอบ ว่าไม่ควรด่วนสรุปว่า “งมงายไสยศาสตร์” เพราะยังอธิบายไม่ได้

การอธิบายแบบชาวบ้านว่าเป็น “ผีปอบ” และมีวิธี “ไล่ผี” โดยมีพระ มีคนมีพลังมาขับไล่ปัดเป่าก็เป็นผลของความเชื่อ ประเพณีที่สืบทอดกันมา ตาม “ต้นแบบ” อย่างที่คาร์ล จุงอธิบาย ซึ่งแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็น่าจะหาทางเลือกที่ดีกว่า เพราะส่วนหนึ่งก็มีการใช้ความรุนแรงขับไล่ “ผีปอบ” ออกจากชุมชน

ที่อีสานมีอยู่หลายหมู่บ้านที่เคยถูกเรียกว่า “หมู่บ้านผีปอบ” เพราะเป็นที่รวมของบรรดาผู้ถูกหาว่าเป็นปอบ ส่วนใหญ่เป็นสตรี ที่อพยพไปอยู่ในชุมชนที่เป็นคริสต์ และกลายเป็นคริสต์ โดยไม่มีปัญหาหาทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้เป็นปอบกินคนอย่างที่เคยถูกกล่าวหา

ถ้าคิดตามหลักจิตวิทยา ผีปอบ เกิดจากที่บางคนมี “บาดแผลทางใจ” (trauma) ปมในใจ ความทุกข์ ความเครียด มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่นในชุมชน ที่ส่งผลประทบไปยังคนอื่นๆ ที่ระแวงเรื่องปอบอยู่แล้ว และ “พอดี-บังเอิญ” มีคนเจ็บคนตาย มีเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน มีคน “ออกปาก” (คนถูกปอบสิงและพูดออกมา)

น่าจะมีการวิจัยเรื่องผีปอบอย่างจริงจัง หลังจากที่คุณหมอสงัน สุวรรณเลิศ ได้ทำมากว่า 50 ปีก่อน วิจัยเพื่อหาทางป้องกันและสืบหาสาเหตุของ “ผีปอบ” ที่น่าจะเกี่ยวกับความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งระเบิดออกมาเป็นปรากฏการณ์ผีปอบ วิจัยเพื่อพัฒนาจิตสำนึกของชุมชนและสังคม

ถ้ายังคิดว่าวิธีการแบบประเพณีมีความหมายก็ทำไป อย่างที่คุณหมอสงันเคยปฏิบัติ แต่ในเวลาเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เอาหินไปปาบ้านคนที่ถูกหาว่าเป็นปอบ ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน แทนที่จะหาวิธีประนีประนอมสมานฉันท์ อันจะเป็นการป้องกันการกิดปอบ และทำให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข

บ้านเรายังแก้ปัญหากันด้วยอำนาจและความรุนแรง ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงประเทศชาติ เพราะขาดสติและปัญญาที่พัฒนาได้ แต่ไม่ทำ