ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองไทยยังคงเป็น “ชนชั้นนำนิยม” คือคนที่ขึ้นมามีอำนาจไม่ว่าจากฟากฝ่ายใด ก็คือ “ผู้นำที่อ้างอำนาจจากประชาชน” ในแต่ละฝ่ายนั้นทั้งสิ้น

ในกระแสการเมืองไทยปัจจุบันที่เชื่อกันว่า กำลังอยู่ในการต่อสู้ระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมกับพลังประชาธิปไตย แต่นั่นก็เป็นกระแสที่ชนชั้นนำในแต่ละฝ่ายได้สร้าง “มโนคติ” หรือความเชื่อความคิดในแนวนั้นขึ้นมา แล้วเอาประชาชนมาเป็นพวกหรือ “ร่วมสู้รบ” โดยหวังที่จะเอาชนะกันและกัน คือโค่นล้มอีกฝ่ายหนึ่งให้สูญสิ้นหรือหมดอำนาจไป แต่ถ้าเราดูพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยที่ยอมรวมตัวกับพรรคการเมืองในฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล กระแสการเมืองดังว่าก็อาจจะถูกบิดเบือนไปแล้ว นั่นก็คือแท้จริงแล้วการเมืองการปกครองของไทยก็ยังเป็นแค่ “ของเล่น” ของผู้นำหรือชนชั้นนำทางการเมืองเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยเองก็พยายามปล่อยข่าวออกมาชี้แจงว่า อุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่การที่พรรคเพื่อไทยยอมให้กับพรรคในแนวอนุรักษ์นิยมทั้งหลายนั้น ก็เพื่อจะได้เข้าไปทำนโยบายของพรรคให้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเชื่อว่าการร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นผลจาก “ดีลลับที่ลังกาวี” นั้นมากกว่า ที่เพียงขอให้ นช.ทักษิณได้ “กลับบ้าน – ลดโทษ - พักโทษ” แล้วจะยอมสกัดกั้นพรรคก้าวไกลไม่ให้ได้เป็นรัฐบาล รวมถึงจะคืนอำนาจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นต่อไป

แต่ทันทีที่ นช.ทักษิณได้รับการพักโทษ ก็เหมือนกับการติดปีกและคืนอำนาจให้กับปีศาจ ดังภาพที่ได้เห็นการเพ่นพ่านแสดงบารมีไปทั่วทุกทิศ จนมีการประเมินว่านักโทษคนนี้อาจจะคิดการใหญ่อะไรบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะการโค่นล้มฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นด้วย อย่างที่กูรูบางคนบอกว่ากำลังเกิดภาวะ “ล่วงละเมิดดีล” ขณะที่กูรูบางคนก็มองไปไกลกว่านั้นว่า นักโทษคนนี้กำลังจะมาเป็น “เทวดานอกรัฐธรรมนูญ” คือนอกจากจะเข้ามามีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยแล้ว ต่อไปก็จะทำให้ตัวเองขึ้นเป็น “ผู้มีอำนาจเหนือทุกสถาบัน” อีกด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้อย่างนั้น อุดมการณ์ของพรรคนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ “ความมักใหญ่ใฝ่สูง” ยังฝังอยู่ในดีเอ็นเอ ตั้งแต่ที่นักการเมืองบางคนได้ตั้งพรรคไทยรักไทยนั้นขึ้นมา จนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะถูกล้มพรรคยุบพรรคมาหลายครั้ง

นั่นก็แสดงว่า ตราบใดที่คนบางคนยังคงคุมอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยนี้อยู่ (หรือต่อไปอาจจะต้องมีอันเป็นไป เปลี่ยนเป็นชื่อพรรคอะไรก็ตามที) เขาก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กลุ่มการเมืองของเขาได้อำนาจเบ็ดเสร็จ แนวคิดที่ประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประธานาธิบดีหรือสาธารณรัฐนั้นก็ยังมีอยู่ ดังที่เคยมีการกล่าวขวัญถึง “ปฏิญญาฟินแลนด์” ที่คนกลุ่มนี้ได้ให้สัตยาบันไว้ต่อกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนั้น

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ที่ได้จากการเฝ้าติดตามการเมืองไทยมายาวนานพอสมควร เชื่อว่า แนวคิดที่เมืองไทยจะมีการปกครองแบบประธานาธิบดีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแนวคิดนี้ก็จะตายไปพร้อมกับคนที่ร่วมกันคิด โดยเฉพาะคนที่เป็นต้นคิด ที่ไม่น่าจะมีอายุอยู่ต่อไปอีกไม่นาน (ถ้าเป็นไปตามอายุขัยโดยเฉลี่ยของชายไทยที่มีสถิติบอกว่าไม่เกิน 78 ปี ก็คงจะอีกไม่เกิน 3 ปี) ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ตายไปพร้อมกับที่นายปรีดีเนรเทศตัวเองออกนอกประเทศไปเมื่อ พ.ศ. 2491 นั้น หรือพรรคการเมืองไทยหลายพรรคก็ตายไปพร้อมกับที่คนก่อตั้งได้ลาออกหรือตายไป อย่างพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม และพรรคกิจสังคม เป็นต้น (ตามทฤษฎีที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ ตอนที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์เพื่อทำวิทยานิพนธ์ใน พ.ศ. 2527 ในหัวข้อเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคกิจสังคม ซึ่งตอนนั้นท่านยังเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมอยู่ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้พูดทีเล่นทีจริงว่า ทุกสิ่งในเมืองไทยมีคนทำให้เกิด และมันก็จะตายไปตามคนที่ทำให้มันเกิดนั้น ซึ่งก็คือ “ความเป็นอนิจจัง” นั่นเอง)

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังให้ข้อคิดไว้อีกด้วยว่า พรรคการเมืองไทยที่จะอยู่รอดก็คือพรรคที่มีความสามารถในการปรับตัว หรือสามารถเอาตัวรอดผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้ ร่วมกับความสามารถที่จะได้ร่วมรัฐบาล คือถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วก็จะอยู่รอดได้ยาก (ดังที่พรรคกิจสังคมในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยถูกพรรคชาติไทยและพรรคประชาธิปัตย์เขี่ยออก แต่เมื่อพลเอกเปรมมาขอให้กลับเข้าร่วม บางคนในพรรคก็น้อยใจไม่อยากเข้าไปเป็นเสียงค้ำจุนให้รัฐบาล แต่หลายคนในพรรคก็อยากให้กลับเข้าไป ที่สุดท่านก็ต้องยอมให้พรรคกิจสังคมกลับเข้าร่วม ไม่เช่นนั้นพรรคก็จะแตก) ดังที่นักการเมืองใหญ่ของพรรคชาติไทยในอดีตคนหนึ่งเคยพูดเอาไว้ในว่า “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง”

ดังนั้นถ้าเป็นไปตามทฤษฎีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ พรรคการเมืองต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน แม้จะอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองจะแตกต่างกัน แต่การได้เป็นรัฐบาลนั้นถือได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของทุกพรรคการเมือง ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่าพรรคการเมืองไทยจะไม่สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือเวลาเลือกตั้งอาจจะทำท่าว่าฟัดกันให้ตายไปข้าง แต่เมื่อเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็ค่อยทำ “เหนียม ๆ” หาทางผสมพันธุ์กันให้ได้ต่อไป

พรรคแนวสังคมนิยมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 และได้รับชัยชนะ มี สส. เข้าสภามาเป็นจำนวนมาก ในการเลือกตั้งปี 2518 และ 2519 แต่เมื่อไม่ยอมก้มหัวให้ใคร คิดว่าตัวเองใหญ่โตคับบ้านคับเมือง ก็ต้องถึงจุดจบด้วยการรัฐประหาร เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองที่ใหญ่โตมาก ๆ แบบพรรคไทยรักไทยใน พ.ศ. 2544 ถึง 2548 ก็ต้องพังไปด้วยการรัฐประหารเช่นกัน ก็เพราะคิดว่าตนเองใหญ่คับฟ้า และนี่แม้อยู่ในระหว่างพักโทษก็ยัง “กร่าง” ไม่หยุด อันอาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยต้องพบจุดจบในไม่ช้านี้อีกเช่นกัน

น่าสนใจว่าพรรคก้าวไกลจะเล่นบทอะไรต่อไป ถ้าเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ก็ดูเหมือนว่า พรรคก้าวไกลจะขอแสดงบทบาท “ล้ม” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อไป (แม้จะถูกยุบพรรคและลงเลือกตั้งในชื่อพรรคอื่น) แต่ถ้ามีใครเอาแนวคิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในบทความนี้ไปบอกกับพรรคก้าวไกล ๆ ก็คงจะปรับตัวได้ เพราะถ้าอยากอยู่ได้อย่างคงทนแม้จะอึดอัดหรือฝืนทนบ้าง ก็ต้องยอมประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อให้ได้อำนาจรัฐนั้นก่อน ส่วนจะ “ปฏิรูป” อะไร ๆ ต่อไปนั้น ก็ค่อย ๆ ทำ แบบค่อยเป็นค่อยไป

เวลาเลือกตั้งจะทำท่าฆ่าฟันกันเพื่อเอาใจแฟนคลับของตนก็ไม่ว่า แต่เมื่อเลือกเข้ามาได้แล้วต้องค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จากันให้ดี ๆ