ดูจะเป็นการย้อนแย้งกันอยู่ในที  เมื่อบัดนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการปรับครม. จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และหากมีการปรับกันจริงๆ จะมีเมื่อใด ? 


 เมื่อเงี่ยหูฟัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง บอกชัดเจนกับสื่อ เมื่อวันที่เข้ารดน้ำ อวยพร “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เนื่องในวันสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า 16 เม.ย.67 ที่ผ่านมาว่า ยังไม่มีการปรับครม.

 
 “ พูดกันเอง แต่จะต้องมีการปรับในวันหนึ่ง  ถ้าปรับเดี๋ยวก็ทราบกันเอง อย่าเพิ่งทำให้รัฐมนตรีที่มีชื่อออกมาหวั่นไหว มองว่าเร่งทำงานดีกว่า เพราะทุกวันมีค่า แทนที่จะต้องวิ่งเต้นมาหาท่านนั้นท่านนี้” 


 แน่นอนว่าเป็นการยืนยันในทิศทางเดิม  จากนายกฯเศรษฐา ว่ายังจะไม่มีการปรับครม. ตามที่มีข่าวปรากฏ นอกจากนี้ เจ้าตัวยังปฏิเสธกระแสข่าวว่าจะข้ามไปนั่งควบเก้าอี้ “รมว.กลาโหม” แทน “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม 


 พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาสามารถยกหูคุยกันได้กับ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” ซึ่งถือเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


 อย่างไรก็ดี ในฐานะที่นายกฯเศรษฐา มีอำนาจในการลงนามคำสั่งแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า “รัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย ตลอดจน “แกนนำพรรค” ต่างรู้ดีว่า แท้จริงแล้วการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ย่อมมาจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า”  ศูนย์กลางอำนาจตัวจริง เสียงจริง 


 ว่ากันว่าการที่ “รัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย แห่ไปเข้าพบทักษิณ ที่เชียงใหม่เพื่อรดน้ำ อวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์  เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่บ้านพักกรีนวัลเลย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมานั้น ก็ไม่ต่างจากการมาเช็คชื่อ กันตกขบวน ดังนั้น จึงทำให้บรรยากาศที่บ้านกรีนวัลเลย์  คึกคัก ต่างจากจุดที่นายกฯเศรษฐา ไปปรากฎตัวเล่นสงกรานต์ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างเห็นได้ชัด


 สถานการณ์ในพรรคเพื่อไทยและในครม.ที่กำลังเกิดขึ้น เวลานี้จึงกลายเป็นการเกิดภาพ อำนาจซ้อนอำนาจ และมีศูนย์อำนาจใหม่ ที่ “ใหญ่กว่า” เป็นเงาเด่นชัด จนทำให้ รัฐมนตรีหน้าเก่า ไปจนถึง “หน้าใหม่” ที่มีชื่อให้ได้ลุ้น จ่อเข้าไปนั่ง “รัฐมนตรีป้ายแดง” ไม่มีใครยอมตกสำรวจ 


 แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ยังทำให้ถูกมองว่า แม้นายกฯเศรษฐา จะนั่งทำงานอยู่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังมีคนวิ่งเข้าหา  อดีตนายกฯทักษิณ เพื่อหวังต่อ “วีซ่า” ให้กับตัวเองในครม.ต่อไป แต่เหนืออื่นใด  การตัดสินใจของ “เจ้าของพรรค” ย่อมเป็นอันเบ็ดเสร็จ จะให้ใครอยู่หรือไป


  ขณะเดียวกัน เศรษฐา เองยังคงต้องสวมบทบาท “นายกฯทางการ” เพื่อรักษาฐานที่มั่น รักษาอำนาจในการต่อรองในฐานะผู้นำรัฐบาล ต่อไป !