กระแสความตระหนักถึงพิษภัยของฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่บางส่วนของสังคมเริ่มจะชาชิน เหมือนกับปรากฏการณ์ฝนตก น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เป็นวัฏจักร

กระนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวล เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากฝุ่ง PM2.5 นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคกร้ายที่คร่าชีวิต โดยเฉพาะมีข้อมูลในช่วงปี 2565 -/ถึ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดแล้ว 4 คน ซึ่งเชียงใหม่นั้นเป็นพื้นที้ที่มีค่าฝุ่นPM2.5 ครองแชมป์อากาศเลวร้ายที่สุดอันดับ 1 ของโลก อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อหันมาดูข้อมูลของโรคมะเร็งปอด จากนายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2022 ทั่วโลกพบผู้ป่วยรายใหม่ 2,480,675 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1,817,469 ราย สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,534 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสัมผัสสารก่อมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสแร่ใยหิน การได้รับมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

ขณะที่ว่าที่ร้อยตำรวจโทหญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในช่วงปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะเริ่มมีอาการแต่มักไม่มีอาการจำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า ระยะของโรคจึงอาจลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ปอดติดเชื้อบ่อย เหนื่อยง่ายเรื้อรัง เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายตัว รวมถึงสุขภาพผู้ป่วย

มะเร็งปอดสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนสวมหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพขณะปฏิบัติงาน หรือขณะอยู่นอกอาคาร/บริเวณที่มีมลพิษสูง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดประจำทุกปี  (ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์ เพจข่าวจริงประเทศไทย)

กระนั้น เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการขจัดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคร้าย คืนสภาพแวดล้อมที่ดี และที่สำคัญคือแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ชนิดที่ไม่ลูบหน้าปกจมูก