นักวิชาการได้วิจัยพบว่า คนไทยมีความเชื่อที่เป็นปัญหาต่อการเมืองประชาธิปไตยดังนี้ “การเล่นพรรคเล่นพวกมีสูง เพราะพรรคพวกช่วยได้ทุกเรื่อง บอกได้ สั่งได้ บุญคุณต้องทดแทน ได้พวกจะได้ทุกเรื่องที่ต้องการ หลักการระเบียบปฏิบัติที่ทำไม่ได้ แต่ถ้ามีพวกทำหรือหาทางออกให้ได้ ผิดก็ช่วยปิดบัง รู้ว่าไม่ดีปิดโอกาสจำกัดสิทธิผู้อื่นแต่หลีกเลี่ยงยาก ทุกคนอยากสะดวกสบาย พรรคพวกทำผิดให้ถูกได้ ไม่มีพวกก็ใช้เงิน ใช้กันจนเกิดพรรคพวกใหม่ในเวลาต่อมา เงินและพวกคือโอกาสของความเสมอภาพ เป็นที่มาของการวิ่งเต้นประจบสอพลอ เชื่อลึก ๆ ว่าระบบเส้นสายมีอยู่ทุกวงการ ในสังคม เราไม่ทำคนอื่นก็ทำ เราไม่ทำก็สู้คนอื่นไม่ได้ การใช้อภิสิทธิ์ทำให้ได้เร็ว สิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ถือเป็นการมีบารมี เป็นพลังอำนาจ เชื่อกฎแห่งกรรม แต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้ายิ่งใหญ่กว่า การทุจริตคอรัปชั่น เชื่อว่าใครทำตามระเบียบกฎหมายนั้นโง่ คนฉลาดต้องไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เริ่มแรกข้าราชการชี้ช่องให้นักการเมืองตัดสินใจใช้อำนาจ ต่อมานักการเมืองสั่งให้ข้าราชการทำ กลายเป็นรากเหง้าการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดจากความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์แนวใหม่ เหตุที่กล้าทำกล้าโกง เพราะเชื่อว่าทำได้ กฎหมายมีช่องว่าง เอาผิดได้ยากและเชื่อมั่นมากขึ้นว่าชีวิตคือโอกาส โอกาสต้องเริ่มที่เงิน หรืออำนาจ ชีวิตที่ดีคือโอกาสที่ดี อะไรถูกหลักการ จะทำได้ยาก ช้าและไม่ได้ผลประโยชน์ “ให้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องคืนแบบไม่ถูกต้อง” เชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่มีสิ่งนี้ทุกคน ขอแต่ให้คืนสังคมบ้าง นักการเมืองที่ไม่กินไม่โกงเกือบไม่มีในสังคม การยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ เพราะเชื่อว่าคนอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง คนทำได้หมด หลักการคือคำโฆษณาที่สวยหรู ขั้นตอนกระบวนการเป็นแค่พิธีการ คนใกล้ชิดจะพูดน้อยใช้ง่าย ตำแหน่งเปลี่ยนได้แต่ตัวบุคคลต้องอยู่กันตลอดชีวิต ความเชื่อดังกล่าวเป็นพัฒนาการรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์ การใช้เงินกับการเลือกตั้ง เชื่อว่าการเมืองที่เป็นอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตไม่ได้ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เหมือนกันหมดทุกระดับ จึงเลือกเงินไว้ก่อน รับเงินแล้วส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้ตามที่รับปากไว้ เพราะเชื่อว่าความลับไม่มีในโลก สักวันหนึ่งจะรู้มีผลอันตรายต่อตัวเองและครอบครัว และแสดงถึงความจริงใจ ซื่อสัตย์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่สบายใจกว่าผลประโยชน์ที่ตามมามีมากและต่อเนื่องถึงอนาคต ใครทำผิดหลักการและกฎเกณฑ์มากกลายเป็นความภาคภูมิใจว่าเป็นคนมีประสบการณ์ “จึงใช้เงินหาอำนาจ หรือใช้อำนาจหาเงิน” การตัดสินใจเลือกตัวแทนในระดับท้องถิ่นความเป็นญาติมาอันดับแรก พรรคพวก เงิน และพรรคที่สนับสนุนจะเป็นตัวเสริม ระดับชาติพรรคที่สังกัดของผู้สมัครจะมาเป็นอันดับแรก พฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้งส่วนใหญ่ตัดสินใจมาก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง แต่ 2 – 3 วันสุดท้ายจะเป็นตัวแปรพลิกผัน ทีมผู้สมัครจะมีคนเช็คการลงคะแนนหน้าหน่วย ลักษณะการเช็คจะดูสีหน้า ดูการพูดคุยของผู้ลงคะแนน มีส่วนน้อยที่เป็นพรรคพวกจะขอกันได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ผู้ใช้สิทธิเชื่อผู้นำที่เคยให้ความช่วยเหลือกันมาก่อน บางพื้นที่เป็นส่วนน้อยมากที่เกิดความไม่แน่ใจจะใช้การริบบัตรประชาชน บางส่วนดูกระแสส่วนใหญ่ในพื้นที่ไปทางไหน ไม่ไปด้วยก็อยู่ยาก มีส่วนน้อยหัวคะแนนต้องเป็นบุคคลฉลาดแกมโกง มีอำนาจอิทธิพลกว้างขวาง และขอตำแหน่งที่มีในระดับรอง ๆ ลงมาในโอกาสต่อไปในพื้นที่จึงเกิดสายโยงใยเกี่ยวพันกันทั้งระบบ เป็นอุปถัมภ์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ที่เกี่ยวโยงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติในสังคมการเมืองประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน กระบวนการหล่อหลอมทางสังคมการเมืองที่เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ อุดมการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมและทัศนคติตกผลึกทางความคิดเป็นแนวโน้มของการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก และการประเมินค่าและแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทางการเมืองพัฒนาก่อตัวเป็นลักษณะวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนดังข้อค้นพบส่งผลต่อรูปแบบการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง” (การเมืองไทยระบบหรือคน : การพัฒนาวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ,  ดร.วิศาล ศรีมหาวโร วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2554 เล่มที่ 3)