ทองแถม นาถจำนง รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรักษาสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่ก็มีขอบเขตตามที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นแล้ว การใช้สิทธิ์นั้น ๆ ก็มีขอบเขตที่มิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย นั่นคือต้องเป็นการใช้สิทธิ์ที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม ถูกศีลธรรม และควรจะมีความพอดีคือแม้จะมีสิทธิ์ แต่ก็ควรรู้จักสงวนสิทธิ์ไม่ใช้จนพร่ำเพรื่อ หรือก่อปัญหาให้สังคมจนเกินเลย พลเมืองเราสามารถใช้สิทธิได้ตามเสรีภาพอันเป็นธรรมเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจตนเอง.......... ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านบอกว่า “...มานึกดูแล้ว ผมก็ออกจะไม่แน่ใจนักว่า เสรีภาพนั้นคืออย่างไรกันแน่ ได้ยินนักปราชญ์แต่ก่อนท่านพูดกันว่า เสรีภาพคือชีวิตที่ปราศจากข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น หมายความว่าบุคคลจะกระทำสิ่งใดก็ได้ไม่มีใครห้าม แต่หันกลับมาดูความหมายของคำว่าเสรีภาพในศาสนาพุทธ ท่านกลับสอนไว้ว่า เสรีภาพคือการหมดสิ้นอวิชชา และอาสวกิเลสทั้งปวง พระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นเสรีโดยแท้ เมื่อคิดดูดังนี้แล้ว ก็ออกจะเห็นจริง เพราะมนุษย์ปุถุชนเรานั้นย่อมมีกิเลสตัณหาต่าง ๆ กัน ถ้าหากว่าสามารถกระทำการใด ๆ ได้โดยปราศจากข้อห้าม กิเลสตัณหานั้นเองก็จะเป็นเครื่องบังคับการกระทำ และการกระทำที่ไม่มีใครห้ามนั้น จะถือว่าเป็นการกระทำที่ดีไม่ได้ ถ้าหากว่าเสรีภาพหมายถึงการกระทำตามกิเลสตัณหาโดยไม่มีใครห้ามแล้ว เสรีภาพเช่นนั้นก็คงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากและความเสียหายแก่ชีวิตของตนและชีวิตของคนอื่นอยู่เสมอ” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงทัศนะไว้เป็นบทกลอนตอบจดหมายคุณ “ทณ สหกรณ์” ในคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวัน ฉบับวันที่24 มีนาคม 2498 ดังต่อไปนี้ คุณ “ทณ สหกรณ์” เขียนมาถามว่า ๐ ฤดูร้อนนอนวิตกอกอึดอัด เห็นเพื่อนแท้ก็แต่ “สยามรัฐ” ค่อยถูกอัฐอ่านแล้วเกิดซึ่งความคิด ยิ่งฉบับวิจารณ์ด้วยช่วยฉลาด บทความปราชญ์หม่อมค่อยประดอยประดิษฐ์ สมฉายาว่า “คึดลึกต้องคึกฤทธิ์” อ่านแล้วเกิดความคิดนานานึก คนถามคล้ายกระหายน้ำคอแห้งผาก หม่อมตอบเหมือนน้ำเข้าปากแกล้งหยุดกึก ไม่ได้กลืนแก้กระหายไม่วายนึก อยากแหวะอกหม่อมคิดลึกออกดูนัก ว่าทำไมจึงแสร้งแกล้งปิดปก ไม่เปิดอกออกมาให้ประจักษ์ ธรรมนูญรัฐจัดเสรีไว้ตั้งหลายวรรค หรือไม่มีอย่าเยื้องยักพูดมาซิ หม่อมก็เชิ้อกษัตริย์ขัตติย์ชาติ ย่อมองอาจกล้าพูดกล้าเตือนติ ดีส่งเสริมเสียตัดตอนคอยรอนลิ อย่างนั้นสิหม่อมเลิศประเสริฐมิตร หรือหม่อมระวังตัวกลัวตำรวจ ซึ่งเข้มงวดกุมจับระงับสิทธิ์ ส่งหนังสือขอนับถือเป็นเนืองนิตย์ อย่าลืมสิทธิ์ว่าหม่อมมีเสรีนะ รัฐธรรมนูญของไทยให้สิทธิ ตำรวจเกลียดหรือติอย่ายี่หระ หม่อมก็ชายสิบตรีทหารนี่คะ หม่อมไม่ผิดไฉนจะสะท้านสะทก ตุลาการเรายังดีมีเป็นหลัก หม่อมตระหนักหรือว่าท่าวิตก หรืออย่างไรไขตรงตรงอย่าวงวก โปรดเปิดอกออกให้ชื่นใจเอย ๐ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ตอบว่า ๐ อันการใช้เสรีมีจังหวะ ขืนใช้ดะเพรื่อนักมักสะดุด คนทุกคนพลาดได้ใช่ปาปมุต เพื่อความยุติธรรมจำระมัด ระวังการพูดจาอย่าปล่อยหมด ควรออมอดอย่าให้เด่นเห็นถนัด เตือนเบาเบาไม่ต้องขู่ก็รู้ชัด ไม่ต้องขัดใจเขม่นเป็นอมิตร์ ทำอย่างนี้แม้ประสบได้พบพักตร์ ก็ยังทักคบกันได้ไม่หมางจิต การใช้คารมแรงเที่ยวแผลงฤทธิ์ คนใช้สิทธิ์เปื่อยไปไม่ดีนัก เมื่อมีสิทธิ์สงวนสิทธิ์คิดให้ถูก จำต้องปลูกฝังสิทธิ์ไม่ผิดหลัก ต้องรับชอบรับผิดคิดพิทักษ์ ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาเร้าให้คิด คนมีใจจึงสำเหนียกเรียกมนุษย์ ไม่มีหยุดอยู่ได้การใช้จิต เพียงแต่แนะให้เห็นเป็นนิมิต ก็จะคิดออกได้ไม่ยากนัก ผมไม่กลัวหรอกเรื่องตะรางคุก อาจจะสุขกว่าข้างนอกบอกประจักษ์ แต่คนเราเคยเป็นมิตรสนิทรัก จะโหมหักกันไม่ลงบอกตรงเอย ๐ กลอนบทนี้ นอกจากจะแสดงทัศนะไว้อย่างดีแล้ว ยังแสดงความสามารถเชิงกวีของทั้งผู้ถามผู้ตอบด้วย ลองย้อนอ่านดูเถิด คำลงท้ายกลอนของผู้ถามใช้ “คำตาย” ทุกวรรค เขียนยากนะ ไม่แน่จริง เขียนแล้วสื่อเนื้อหาไม่ได้ เมื่อผู้ถาม เขียนมาแบบยาก ๆ ผู้ตอบก็ตอบให้สมน้ำสมเนื้อ ใช้คำตายลงท้ายตลอดเหมือนกัน “สิทธิของเราทุกคนนั้นมีอยู่ตามกฎหมาย เสรีภาพของเราทุกคนนั้นมีอยู่ในใจ แต่สิทธิและเสรีภาพเป็นของละเอียด ของสูง จะใช้ก็ต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นจะแตกหักสึกหรอได้ง่าย” ( “คึกฤทธิ์ ปราโมช” – ตอบปัญหาประจำวัน 26 มีนาคม 2498 ) เรื่องสิทธิและเสรีภาพนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ท่านเขียนเตือนอยู่เสมอว่า อย่าใช้พร่ำเพรื่อ อย่าใช้เกินขอบเขตความเหมาะสมความพอดี หากใช้กันจนเลอะเทอะแล้ว ผู้ใช้อย่างเลอะเทอะนั้น....ไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ อาจจะแค่ถูกเท่านั้นแต่ตัวสิทธิและเสรีภาพต่างหากที่จะเสื่อมเสีย แล้วหมดศักดิ์และสิทธิ์ ไม่มีใครยอมรับ นั่นคือสังคมเป็นจลาจล ไม่มีใครฟังใคร ทำให้ “โจรมาเฟีย” มีอำนาจ แล้วคนที่จะเดือดร้อนก็คือสมาชิกทั้งหมดในสังคมนั้น ๆ บางคนอาจเข้าใจผิด นึกว่า “เสรีภาพ” คือชีวิตที่ปราศจากข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น หมายความว่าบุคคลจะกระทำสิ่งใดก็ได้ไม่มีใครห้าม ถ้าเสรีภาพเป็นอย่างนั้น สังคมมนุษย์คงตั้งมั่นอยู่มิได้ คงล่มสลายไปนานแล้ว “มนุษย์ปุถุชนเรานั้นย่อมมีกิเลสตัณหาต่าง ๆ กัน ถ้าหากว่าสามารถกระทำการใด ๆ ได้โดยปราศจากข้อห้าม กิเลสตัณหานั้นเองก็จะเป็นเครื่องบังคับการกระทำ และการกระทำที่ไม่มีใครห้ามนั้น จะถือว่าเป็นการ กระทำที่ดีไม่ได้ ถ้าหากว่าเสรีภาพหมายถึงการกระทำตามกิเลสตัณหาโดยไม่มีใครห้ามแล้ว เสรีภาพเช่นนั้นก็คงจะ ก่อให้เกิดความยุ่งยากและความเสียหายแก่ชีวิตของตนและชีวิตของคนอื่นอยู่เสมอ ยกตัวอย่าง อย่างในเมืองไทยเวลานี้ เรามักจะได้ยินเสียงบ่นกันว่า ไม่มีเสรีภาพในการพูด การเขียน และการโฆษณา จะจริงหรือไม่จริงก็รู้ ๆ กันอยู่แล้ว แต่สมมุติว่าเสรีภาพในการพูดการเขียนและการโฆษณานั้นเกิดมีขึ้นจริง ผลจะเป็นอย่างไร เสรีภาพในการเขียนและการโฆษณานั้น หมายถึงเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ถ้าหากว่าหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพโดยแท้จริงแล้ว เสรีภาพนั้นจะตกอยู่ในมือของคนสักกี่คน อยู่ที่คนหนังสือพิมพ์นั้นหนึ่งละ แต่ถ้าจะดูให้แคบลงมาอีก ก็จะเห็นว่าเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงนั้น จะเป็นของเจ้าของหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง ยิ่งหนังสือพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมหนัก ต้องใช้ทุนรอนมากขึ้นเพียงใด ความจริงข้อนี้ก็ย่อมจะปรากฏชัดยิ่งขึ้น” ( “คึกฤทธิ์ ปราโมช”) คนหนังสือพิมพ์ถ้าไม่หลอกตัวเอง ก็ย่อมเข้าใจว่า ตนมี “เสรีภาพ” ระดับใด แล้วกระทำตนให้มีความสุขอยู่ภายในขอบเขตนั้น ถ้าทำใจไม่ได้ ก็คงต้องทำงานไปพร้อม ๆ กับการเผาไหม้จากทุกข์ที่นึกว่าตนไม่มีเสรีภาพ...... มีคำอธิบายเรื่อง “เสรีภาพ” ที่คลาสสิคมาก ๆ นั่นคือ คำอธิบายของเบอร์นาร์ด ชอว์ “เบอร์นาร์ด ชอว์ เป็นคนพูดอะไรง่าย ๆ เสมอ และในเรื่องเสรีภาพนี้ เบอร์นาร์ด ชอว์ ให้คำนิยามไว้อย่างง่ายที่สุดว่า “เวลาว่าง” ถึงจะพูดไว้ง่ายอย่างนี้ ก็กินความลึกซึ้งอยู่มาก ถ้าจะลองคิดกันดูให้ดี ๆ ก็จะเห็นว่า คนที่ขัดสนอย่างยิ่ง หรือคนที่มีงานบังคับให้ต้องทำนั้นจะเป็นผู้ที่มีเสรีภาพไม่ได้ เพราะคนที่ขัดสนอย่างยิ่งนั้น ก็จะต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองไปโดยไม่มีเวลาว่าง ส่วนคนที่มีงานบังคับให้ทำ ก็จะต้องทำไปโดยไม่มีเวลาว่างอีกเช่นเดียวกัน คนที่จะมี “เวลาว่าง” หรือเสรีภาพได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีฐานะพอมีพอกิน และคนที่ไม่มีงานที่บังคับให้ต้องทำอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น เสรีภาพของเบอร์นาร์ด ชอว์ จึงเป็นเสรีภาพที่มีเงื่อนไข การที่จะกระทำให้หมดเงื่อนไขนั้นได้ ก็จะต้องมีคนอื่นที่มีความรู้สูงกว่าและมีอำนาจมากกว่ามาทำให้ คือรัฐบาลนั้นเอง” ( “คึกฤทธิ์ ปราโมช”) โดยนัย “เวลาว่าง” แล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้ามีเสรีภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้ข้าพเจ้านั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ข้าพเจ้าติดตามข่าวสารและข้อมูลได้เท่าที่ต้องการ ส่วนเรื่อง สิทธิ์และเสรีภาพทางการเมืองนั้นข้าพเจ้าใช้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูก “กระทืบ” บ่อยเหลือเกิน ข้าพเจ้ากลัวว่ามันกำลังจะแตก !