เสรี พงศ์พิศ/ www.phongphit.com ถ้าเมืองไทยไม่มีมอเตอร์ไซค์ การตายด้วยอุบัติเหตุบนนถนนน่าจะลดลงไปกว่าร้อยละ 80 เพราะตัวเลขทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ส่วนใหญ่ตายเพราะจักรยานยนต์ อุบัติเหตุเกิดเพราะคนขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งเมาและไม่เมามักไม่เคารพกฎจราจร ขับย้อนศร ย้อนจราจร ขับเร็ว ประมาท ไม่คำนึงถึความปลอดภัยของตนและผู้อื่น “ไม่เป็นไรหรอก แค่นี้เอง ไปอ้อมไกล 2-3 ก.ม.ไม่ไหว สู้ย้อนศรไปเพียง 200 เมตรไม่ได้ เร็วกว่า” คือต่อมใต้สำนึกของผู้คนจำนวนมาก แต่มอเตอร์ไซค์ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยไม่ใช่แค่ขี่เอาเท่แบบบิ๊กไบค์ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือเพียงขี่ไปส่งของส่งพิซซ่า แต่เป็นพาหนะหลักและจำเป็นเพื่อการเดินทางของคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอเพื่อซื้อรถยนต์ ประเทศไทยจึงมีรถจักรยานจน์ถึง 20 กว่าล้านคัน (ตัวเลขกรมการขนส่ง) ปัจจัยภายนอกสำคัญประการหนึ่งของปัญหาจราจรและการตายบนท้องถนนจึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้ารายได้ยังต่ำเตี้ย คนจนยังมากกว่าครึ่งของประเทศ และระบบโครงสร้างยังเอื้อความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ต่อไป ก็คงต้องทำใจว่า อุบัติเหตุจะไม่มีทางลด ดูจากตัวเลข 7 วันอันตรายปีใหม่ 2562 นี้ตาย 463 คน เพิ่มจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 423 คน ปีนี้บาดเจ็บ 3,892 ราย ความเสียหายต่างๆ เท่าไรก็คำนวณยาก แต่มากมายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าคิดถึงเยาวชนคนหนุ่มคนสาว คนที่เป็น “ทรัพยากรบุคคล” ของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ตายแบบไม่น่าตาย ยังไม่นับทรัพย์สินส่วนตัวส่วนรวมอีกเท่าไร การรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมายน่าจะไม่ได้ผล แม้ว่าอัตราการจับกุม การลงโทษคนกระทำผิดกฎจราจรจะสูงกว่าปีก่อน มีมาตรการลงโทษที่หนักกว่า แล้วทำไมยังไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน สภาพเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัว ที่โยงไปถึงระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม สังคมที่หลายมาตรฐานก็ย่อมสะท้อนไม่เพียงแต่ในระดับสูง อย่างคนรวย คนมีเส้นมีสาย มีอำนาจเป็นมาตรฐานหนึ่ง “คุกมีไว้สำหรับคนจน” แต่คนจนก็สร้างมาตรฐานได้เหมือนกัน มาตรฐานที่คนระดับล่างมองขึ้นไปข้างบนแล้วบ่นดังๆ ว่า “มึงทำได้ กูก็ทำได้” คนขี่มอเตอร์ไซค์ จึงสวนรถเก๋ง สวนจราจร ย้อนศร ขี่ไปบนบาทวิถี แท้กซี่ก็ปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่กดมิเตอร์ คนจนก็มีวีธีของตนในการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะในเมื่อคุณเป็นศรีธนญชัยได้ ผมก็เป็นได้ คุณยืมนาฬิกาเพื่อนได้ ผมก็ยืมได้ บ้านเมืองนี้มีมาตรฐานที่แต่ละชนชั้นสร้างกันขึ้นมา มาตรฐานที่อยู่เหนือกฎหมาย นอกกฎหมาย คนรวยกลบเกลื่อนความไม่เป็นธรรม “แบบถูกกฎหมาย” คนจนชดเชยความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการของตนเอง แม้ว่าผิดกฎหมาย ด้วยความโกรธแค้นและสะใจในสังคมที่ไม่เป็นธรรม ประเทศสิงคโปร์บ้านเมืองสะอาด ผู้คนเคารพกฎหมาย กฎจราจร มีอุบัติเหตุบนนถนในระดับต่ำมาก เศรษฐกิจของประเทศ รายได้ต่อหัวของเขาสูงกว่าไทยเป็น 10 เท่า มีมอเตอร์ไซค์น้อยมาก และการบังคับใช้กฎหมายก็ทำได้จริง ไม่ต่างจากประเทศในยุโรปที่พัฒนาแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะคนสิงคโปร์ดีกว่าคนไทย แต่เพราะระบบโครงสร้างสังคมที่พัฒนาไปพร้อมกับวินัยของคนในชาติ การเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น สิงคโปร์จึงกล้าออกกฎหมายที่ดูประหลาดแบบห้ามขายหมากฝรั่ง ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ประเทศเกาหลีใต้เคยอยู่ในภาพเศรษฐกิจสังคมไม่ต่างจากไทยเมื่อ 35 ปีก่อน วันนี้เขาไปถึงไหมไม่รู้ เมื่อปี 2531 (1988) มีกีฬาโอลิมปิกที่เกาหลี ก่อนหน้านั้นหลายปีมีการณรงค์ให้เลิกบีบแตรรถบนถนน เพราะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงโซลหนวกหูด้วยเสียงแตรรถตลอดทั้งวัน เขาทำสำเร็จ บ้านเมืองเงียบ และเมื่อมีการปรับโครงสร้างสังคม มีการกระจายอำนาจ บ้านเมืองก็สงบ ไม่มีการประท้วงรายวันอย่างเมื่อก่อนที่ทุกอย่างรวมไว้ที่กรุงโซล กรุงโซลจึงต้องรับกับผู้ประท้วง ที่ตีกับตำรวจทุกวัน ประเทศสวีเดนเคยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูง โดยเฉพาะการเมาแล้วขับ รณรงค์อย่างไรก็ไม่ค่อยได้ผล จึงเปลี่ยนมารณรงค์ให้กินเหล้าอย่างถูกวิธี กินเหล้าอย่างมีวัฒนธรรม กินเหล้าอย่างปลอดภัย หรือจะเรียกอย่างไรก็ได้ (แต่ไม่ต้องไปแช่งชาวบ้านอย่างบ้านเรา) ปรากฎว่าได้ผลดี อุบัติเหตุลดลงกว่าครึ่ง การพัฒนาจิตสำนึกของคนไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้กฎหมายบังคับก็เป็นวิธีหนึ่ง วิธีเบื้องต้นสำหรับคนที่ไม่สามารถคิดเองทำเองได้ หรือไม่รู้สึกรู้สาต่อปัญหาต่างๆ เหมือนเด็กเล็กๆ ทียังพึ่งตนเองไม่ได้ ถ้าการใช้กฎหมายและการลงโทษเป็นไม้แข็ง การใช้กฎระเบียบพร้อมกับรางวัลก็เป็นไม้นวม รัฐบาลอยากให้คนหันไปใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วก็ลดราคาน้ำมันนี้ลงให้ถูกกว่าน้ำมันทั่วไป รัฐบาลใช้มาตรการภาษีเพื่อให้คนดูแลสิ่งแวดล้อม ก็ได้ผลพอสมควร อยู่ที่เจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐ ความสม่ำเสมอ การเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการรณรงค์ ไม่ใช่ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง อย่างที่ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนส่งเสริมการเลิกใช้ถุงพลาสติกอยู่ไม่กี่วันก็จางหายไป ไปซื้อของตามห้างยังใช้กันอยู่เหมือนเคย ไม่มีใครสนใจเรื่องแต้มเรื่องคะแนนสะสมอะไรนั่น ถ้าใช้ไม้แข็ง รัฐบาลอาจหักดิบห้ามใช้ถุงพลาสติกไปเลย ห้ามใช้หลอดพลาสติกไปเลย ส่งเสริมชาวบ้านให้มีรายได้ด้วยการผลิตถุงผ้ามาแทน ไม่ใช่เตะหมูเข้าปากหมา ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ชอบผูกขาดทำถุงผ้าถุงกระดาษขาย ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน คนยากคนจน ทำทีเดียวได้หลายเรื่อง กรุงโรมไม่ได้สร้างกันวันเดียว การรณงค์เรื่องการสูบบุหรี่ก็ใช้เวลาหลายปี แต่เมื่อมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ทำกันต่อเนื่อง ทั้งไม้แข็งไม้นวม ที่สุดก็ไม่ต้องใช้ไม้อะไรเลย เพราะได้กลายเป็นจิตสำนึกไปแล้ว ไม่ใช่เพียงจิตสำนึกส่วนตัวของประชาชน แต่จิตสำนึกส่วนรวมของสังคม