รัฐบาลมีงานหนัก นอกจากจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ นานาแล้ว ยังต้องผลักดันการปฏิรูปสังคมตามแผนงานระยะสั้นด้วย ที่ผ่านมามีผลงานที่มวลชนนิยมชมชื่นระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า การปฏิรูปนั้นต้องใช้เวลา และทำต่อเนื่องกันหลายปี ภาระหน้าที่นี้ คสช. จึงไม่ควรละเลย คสช.จะต้องผลักดันให้แม่น้ำทั้งห้าสายที่ตนจัดตั้งขึ้นมา ปฏิบัติหน้าที่ด้านการปฏิรูป ให้มีผลงานแจ่มชัดยิ่งขึ้น การปฏิรูปสังคมไทยนั้น จำเป็นต้องทำจริงจังและต่อเนื่องกันอีกหลายปี ดูเหมือนว่า คสช. ฝากความหวังไว้กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย  ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ จุดเด่นอันหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับ “การปฏิรูปประเทศ” ถึงกับบัญญัติเป็น “หมวด 16” แยกออกมาโดยเฉพาะ             โดยใน “หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ” ได้บัญญัติถึงเป้าหมายในการปฏิรูปไว้ 3 ประการ คือ 1.เพื่อให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2.สังคมมีโอกาสเท่าเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 3.ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครอง             ทั้งนี้ มีการปฏิรูปประเทศทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเมือง โดยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฯ 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินฯ 3.ด้านกฎหมาย 4..ด้านกระบวนการยุติธรรม  5.ด้านการศึกษา  6.ด้านเศรษฐกิจ ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี ฯ    7.ด้านอื่นๆ ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน, จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม, ปรับระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ และเพื่อให้ยุทธศาสตร์นี้ได้ปฏิบัติต่อเนื่อง จึงมีกฎหมายบังคับว่า หากรัฐบาลใดไม่เดินตามแนวทางที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ย่อมส่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีข้อเขียนบนกระดาษป้องกันเอาไว้ แสดงว่าเป็นกังวลว่ารัฐบาลที่มาจากนักการเมืองเลือกตั้ง จะละทิ้งและไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรห่วงกังวลจริง ๆ เพราะบทเรียนในอดีต เมื่อเปลี่ยนขั้วนักการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แผนยุทธศาสตร์ชาติก็ถูกเปลี่ยนทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ หรือที่อาจเรียกว่า “การปฏิรูปบนกระดาษ” ที่กำหนดให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเดินตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางไว้แล้วนี้ จะศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ยังน่าเป็นห่วง “การปฏิรูปบนกระดาษ” ถูกฉีกทิ้งได้ “การปฏิรูปด้วยใจมวลชน” จึงจะทรงพลังแท้จริง คสช. ต้องปลูกฝังจิตสำนึกปฏิรูปให้ฝังลึกในจิตใจของมวลมหาชน แต่ คสช. ยังทำภารกิจนี้น้อยเกินไป