ปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาคือ ราคาสินค้าปฐมภูมิตกต่ำ เกษตรกรรายย่อยไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้ ถ้าเดินตามแนวทางของทุนนิยมสากล นั่นคือเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวสนองวัตถุดิบปฐมภูมิให้กับ “ทุน” ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่บ่อย ๆ จนแทบจะกล่าวว่าเกษตรกรขายสินค้าเกษตรได้ต่ำกว่าทุนอยู่ตลอด คือขาดทุนตลอด เพราะพอถึงฤดูเก็บเกี่ยวทีไร ต้องมีเกษตรกรที่เดือดร้อน ออกมาชุมุนมเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือทุกปี ทุกปีรัฐบาลไทยเสียเงินไปหลายพันถึงหลายหมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อราคาผลผลิตเกษตรปฐมภูมิราคาตกต่ำ มันตกต่ำทุกชนิด แม้บางชนิดจะมีราคาพอใช้ได้อยู่ช่วงหนึ่ง เช่น มันสำปะหลัง แต่เดี๋ยวมันก็จะตกต่ำ ให้ยางพาราราคาสูงขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ราคายางพารายังคงตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ จนมีข่าวว่า รัฐจะส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมันกัน เมื่อเกษตรกรขาดทุน รัฐก็จำเป็นต้องช่วยเหลือ ช่วยกันปีละมากมาย หากนับรวม ๆ หลายสิบปีมานี้ รัฐคงใช้เงินไปนับล้านล้านบาทแล้ว ส่วนเกษตรก็ยังลำบากขายสินค้าขาดทุนต่อไป มันเหมือนปัญหาโลกแตก แก้ไม่ได้ ! ใช่ ถ้ามาแก้ที่ปลายทางเท่านั้น ก็ไม่มีวันแก้สำเร็จ       ข้อเสนอแนะการแก้ไขราคาพืชผลของรัฐนั้นมีสูตรสำเร็จรูป อย่างเช่น  การจำกัดพื้นที่เพาะปลูก  โดยออกมาตรการจูงใจ  ทดแทนการบังคับ  เช่น  รัฐบาลจะต้องมีวิธีการยกระดับราคาพืชผลให้ได้ตามที่ประกาศไว้  โดยมีผลเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมเท่านั้น  นอกพื้นที่ดังกล่าวทางราชการจะไม่รับผิดชอบเรื่องราคา                                 นอกจากจะกำหนดพื้นที่ปลูกแล้ว  ยังต้องกำหนดเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกอีกด้วยโดยรัฐบาลจะต้องอาศัยองค์กรเกษตรกร  หรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ  รับผิดชอบ                               คือองค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ส่งเสริมจะมีหน้าที่ทั้งควบคุม  กำกับ  ดูแล  ส่งเสริมการปลูก  ตลอดจนทำหน้าที่ด้านการตลาด  ประกันราคาพืชผลอีกด้วย                               ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมกลไกการตลาดทั้งในและนอกประเทศ  รวมทั้งจัดหาแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานผ่านองค์กรเกษตรกร   แต่สูตรสำเร็จรูปดังกล่าวข้างต้นนั้น รัฐไทยทำไม่ได้ หรือไม่เคยทำจริงจัง ! เกษตรกรจะหวังพึ่งรัฐไทยคงจะผิดหวัง เกษตรกรควรย้อนกลับไปดูมรดกภูมิปัญญาในอดีต การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกพืชชนิดเดียวเต็มพื้นที่ แล้วก็หวังรอผลผลิตอย่างเดียวนั้น ถ้าราคามันตกต่ำ ก็จะขาดทุนป่นปี้ แต่ถ้าแบ่งพื้นที่ปลูกพืชหลาย ๆ อย่างผสมกัน ก็จะมีผลผลิตตลอดปี ผลผลิตหลายอย่างราคาต่ำบ้างสูงบ้างถัวเฉลี่ยกัน ก็ประกันรายได้ไม่ถึงกับขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินจนสูญเสียที่ดิน เกษตรกรควรช่วยเหลือตนเอง โดยปรับรูปแบบการผลิต ลด- เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม เดินแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นนี้เราต้องย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความเป็นห่วง