ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] พรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบาย 7-7-7 แก่สาธารณชนไปแล้ว ดูเหมือนว่าไปเน้นที่การพลิกฟื้นความยากจนของประชาชนชาวรากหญ้าทั้งสวัสดิการประชารัฐ สังคมประชารัฐ และเศรษฐกิจประชารัฐ กลุ่มละ 7 เรื่อง ทั้ง 3 ประชารัฐน่าจะคัดกรองมาจากแผนการฏิรูปประเทศของรัฐบาลในช่วง 5 ปี ทั้งหมดไม่ได้สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ฟื้นฟูประเทศโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ได้ทำเสนอไว้ให้รัฐบาลปฏิบัติ อาจจะมีอยู่บางหัวข้อที่พรรคคิดเองให้ครบช่องว่างของการปฏิรูปเป็นการต่อยอดนโยบายเดิมที่รัฐบาลได้ริเริ่มทำอยู่แต่ยังไม่เกิดผลสำเร็จ แต่เป็นนโยบายที่ครอบคลุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้นายกรัฐมนตรีคงหนีไม่พ้น พลเอกประยุทธ จันทรโอชา เป็นแน่แท้เพราะเป็นนโยบายที่จะสามารถต่อยอดจากนโยบายเดิมให้เกิดผล และมีโอกาสเกิดได้มากอีกด้วย ส่วนพรรคอื่นยังไม่เห็นนโยบายชัดๆว่าจะทำอะไร เห็นมีแต่บางพรรคประกาศนโยบายรวมๆไม่แยกแยะว่าจะทำอะไรและไม่ครอบคลุมทุกด้าน เพราะหวังเป็นพรรคร่วมเอาเฉพาะนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ระบุไว้เป็นนโยบายให้ครอบคลุมทุกๆด้าน ทุกพรรคคงรอให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายใน 4-8 ก.พ.62 เสียก่อน แต่พลังประชารัฐประกาศไปก่อน เพื่อมิให้พรรคอื่นมาใช้นโยบายที่ครอบคลุมสำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในช่วง 4 ปีข้างหน้า เป็นนโยบายอันชาญฉลาดของพลังประชารัฐที่สร้างผลงานไว้แล้ว ถึงอย่างไรการต่อสู้ทางการเมือง คงต้องสู้ด้วยตัวผู้สมัครและตัวนายกรัฐมนตรี หากดูนโยบายของพรรคแล้ว พลังประชารัฐจะได้มีโอกาสฟื้นนโยบายให้เป็นจริงได้มากเกือบทุกข้อ หากเป็นเช่นนี้ประชาชนควรต้องพิจารณาจะเลือกพรรคใดมาบริหารประเทศให้มีโอกาสพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของประชาชนได้มากกว่ากัน พรรคการเมือง 104 พรรค ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย จะส่งผู้สมัครได้ทันหรือได้ครบตาม กกต. กำหนดหรือไม่ และจะสามารถฟื้นนโยบายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับพลังประชารัฐได้หรือไม่เพราะพรรคที่จะสามารถมีโอกาสเพียง 5-6 พรรคใหญ่ๆเท่านั้น จะสามารถมี สส.ในมือ 25 คนไว้เสนอเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามหากพลังประชารัฐได้เข้ามาบริหารประเทศ คงต้องมาพิจารณาว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้เสนอการจัดตั้งหน่วยงานจำนวนมากถึง 52 หน่วยงาน เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิรูปแต่ละเรื่อง โดยจัดตั้งเป็นระดับกรม 9 กรม กอง 13 กอง ระดับองค์การมหาชนและองค์การอิสระอีก 9หน่วยงาน และองค์กรรูปแบบพิเศษอีกถึง 21 หน่วยงาน จะเป็นภาระของงบประมาณปีต่อๆไป ในขณะที่รัฐบาลจะลดการขยายองค์กรภาครัฐ ดูออกจะสวนทางกับแนวคิดนี้ คงต้องกลับมาทบทวนว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ในการจัดตั้งองค์กรเหล่านั้นเข้ามาบริหาร อาจคงต้องปรับทั้ง 21 กระทรวงให้สามารถรับงานเหล่านั้นได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม คงไม่ใช้หน่วยงานมาก เพราะแยกมาจากกระทรวง 2 กระทรวง แม้ว่าจะแยกตัวออกมา หากจะเพิ่มบุคลากรคงเพิ่มไม่มาก เพราะสามารถรวมงานต่างๆไว้ด้วยกันได้อยู่แล้ว คงต้องรอดูว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล จะบริหารองค์กรภาครัฐให้มรประสิทธิภาพเพียงใด เพราะทุกนโยบายจำเป็นต้องให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ เพียงแต่อยากจะเห็นหน่วยงานของรัฐใช้เทคโนโลยีให้มากกว่าเดิมสัก 20-30 % คงพอรับมือได้ ในขณะที่รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ลุกจากกระทรวงที่รับผิดชอบอยู่ออกมาลุยงานการเมืองเต็มรูปแบบ คงได้เห็นการเมืองคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ และการสร้างประเทศใหม่ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้บ้างในรัฐบาลชุดนี้