ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรม สังคมมนุษย์ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีแต่อุตสาหกรรม ทอดทิ้งละเลยเกษตรกรรม อาหารขาดแคลน...ก็คงอยู่กันไม่ได้ ปัจจุบันนี้ แม้ตัวเลขรายได้ประชาชาติของไทยในส่วนของภาคเกษตรจะน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม แต่ถ้าคำนึงถึงจำนวนและการกระจายตัวของราษฎรแล้ว ประชากรในภาคชนบทก็ยังเป็นส่วนข้างมาก และถ้าการเกษตร ทั้งการกสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง ฯ เจริญรุ่งเรืองดี สร้างรายได้ให้ราษฎรมีความผาสุกได้แท้จริงแล้ว คนไทยก็คงจะทำมาหากินในบ้านเกิด ในชนบท ต่อไป ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนจากบ้านออกไปขายแรงงานราคาถูกในเมืองหรือการทั่งต้องไปขายแรงงานในต่างประเทศ การปฏิรูปการเมืองให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงมีเสถียรภาพนั้น เนื้อหาแท้จริงอยู่ที่การปฏิรูปเศรษฐกิจ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร ทำให้ราษฎรมีระดับชีวิตความอยู่ในระดับชนชั้นกลาง ซึ่ง “เป็นไททางเศรษฐกิจ” การปฏิรูปเกษตรกรรมที่รัฐบาลกล่าวถึงบ่อยคือ การผลิตแบบแบบฟาร์มใหญ่ จะรวมเกษตรกรมาร่วมกันทำการผลิตในพื้นที่แปลงใหญ่แล้วใช้เทคโนโลยีทันสมัย แต่เรื่องนี้จะทำได้ก็ต้องมาจากความตื่นตัวของเกษตรกรจนยินดีเข้าร่วม ซึ่งยากมาก อีกทั้งสังคมไทยยังมีข้ออ่อนในด้านนี้ เห็นจากความล้มเหลวของสหกรณ์การเกษตรจำนวนมาก การพัฒนาการเกษตรให้เจริญก้าวหน้านั้น ต้องดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานสูงตรงตามรสนิยมและความประสงค์ของผู้บริโภค ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตอย่างต่อเนื่องครบทั้งกระบวนการเพื่อให้เป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูป มีมาตรฐานระดับนำหน้า ด้านการตลาด รัฐต้องมุ่งเปิดตลาดใหม่ในประเทศที่ขาดแคลนอาหาร ลดความสำคัญของตลาดในประเทศที่กีดกันทางการค้าลง พร้อมทั้งร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นเพื่อวางมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาพืชผลเกษตรอย่างได้ผล สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางการกสิกรรมที่ต้องเร่งปฏิรูป ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องปฏิรูปที่ดิน ทำให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 2. ต้องสร้างเครือข่ายชลประทานให้สมบูรณ์ 3. ต้องพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ 4. ต้องพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิต โครงสร้างพื้นฐานการกสิกรรม โครงสร้างพื้นฐานการกสิกรรมที่ต้องปฏิรูปนั้น ประการสำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน จำนวนหนึ่งเคยมีแต่ก้ถูกยึดไปแล้วเนื่องจากปัญหาหนี้สิน การที่เกษตรกรต้องเช่าที่ดินในอัตราค่าเช่าแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเอง ยิ่งกว่านั้น เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองยังไม่อาจแสวงหาทุนมาใช้ในการปรับปรุงที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ขาดขวัญและกำลังใจในการพัฒนาการผลิต รัฐจะต้องปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินโดยทั่วถึง นอกจากนั้นยังต้องดำเนินการปรับสภาพที่ดินทำกินโดยทั่วถึง นอกจากนั้นยังต้องดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้มีการชลประทาน โดยมอบหม่ยให้ อบต.ทุกแห่งร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดิน กระรทรวงเกษตรฯ และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการสำรวจสภาพการถือครองที่ดินของเกษตรกรและวางแผนแก้ไขปัญหาอุปสรรคทั้งหลายให้บรรลุเป้าหมายตามเวลาที่กำหนด 2. แก้ปัญหาน้ำใช้ในการเกษตร ปัจจุบันนี้เครือข่ายชลประทานยังไม่ทั่วถึง ยังไม่พอเพียง ทำให้การเพาะปลูกในหลายท้องที่ยังได้ผลผลิตไม่ดี โดยเฉพาะพื้นที่แห้งแล้งและสูงชันทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐต้องสร้างระบบคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง ส่วนพื้นที่สูงชันก็ต้องสร้างระบบท่อส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้รับน้ำสำหรับการเพาะปลูกครบทุกฤดูกาล 3. ระบบขนส่งพืชผลการเกษตร ต้องพัฒนาระบบการขนส่งผลผลิตจากไร่นาไปยังตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังขาดประสิทธิภาพ การขนส่งทางน้ำซึ่งต้นทุนต่ำ ถูกละเลยไม่ได้รับการพัฒนามานาน การขนส่งทางอากาศสู่ตลาดต่างประเทศก็ไม่พัฒนา ไม่มีเครื่องบินขนส่งสินค้าเกษตรโดยจำเพาะ ยังต้องพึ่งเครื่องบินโดยสารซึ่งระวางบรรทุกน้อย ค่าขนส่งจึงแพง 4. ตลาดกลางสินค้ากสิกรรม ตลาดกลางมีความสำคัญ เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าช่วยให้เกษตรกรไม่ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบในการต่อรองราคา ปัจจุบันจัดสร้างขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังน้อยและขาดแคลนองค์ประกอบที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ไซโลเก็บพืชไร่ ห้องเย็นเก็บผักผลไม้ ฯลฯ